วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มาร่วมกันสร้างมัสยิดให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้

มิมบัรออนไลน์
คุตบะห์วันศุกร์ 18 ชะห์บาน 1431 (วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553)
มาร่วมกันสร้างมัสยิดให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้

الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
إِنَّمَا يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللَّهِ مَنْ آمَنَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَأَقَامَ الصَّلاةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَلَمْ يَخْشَ إِلا اللَّهَ فَعَسَى أُولَئِكَ أَنْ يَكُونُوا مِنَ الْمُهْتَدِينَ
هُوَ الَّذِي أَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالْهُدَى وَدِينِ الْحَقِّ لِيُظْهِرَهُ عَلَى الدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ
وَالْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بَعْضُهُمْ أَوْلِيَاءُ بَعْضٍ يَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِ وَيُقِيمُونَ الصَّلاةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَيُطِيعُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ أُولَئِكَ سَيَرْحَمُهُمُ اللَّهُ إِنَّ اللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٌ

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย
ภายใต้เสียงสัญญาณเตือนที่ทุกคนต่างมุ่งมั่นทำกิจกรรมส่วนตนอยู่นั้น หากสัญญาณดังกล่าวถูกเตือนว่าเวลาที่ทุกคนรอคอยนั้นกำลังจะมาถึง ทุกๆ ฝ่ายต่างก็มุ่งตรงต่อกิจกรรมดังกล่าวนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับบทบาทในภารกิจอื่นๆ ต่อมา เพื่อให้บรรลุความตั้งมั่นที่พวกเขาเหล่านั้นรอคอยอย่างใจจรดใจจ่อ ท่ามกลางสภาวะความเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง นั่นคือสัญญาณที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงตักเตือนปวงบ่าวทั้งหลาย เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้น จะได้ยึดมั่นและยำเกรงต่อพระองค์ ใส่ใจในสิ่งที่เราได้รับจากพระองค์ และรำลึกถึงพระองค์ เมื่อใดก็ตามที่เราต้องกลับไปยังพระองค์ วินาทีแรกที่ชีวิตของเราจะดับสิ้นลงนั้น ความกระวนกระวายใจก็ยิ่งสับสนและเริ่มมองหาหนทางแห่งการช่วยเหลือ ทั้งคนที่เฝ้าไข้ คนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเราเองที่นอนเจ็บอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น จึงขอเตือนตนเองและท่านทั้งหลาย จงลดความเย่อหยิ่ง ความทระนงตน และพึงสังวรด้วยว่า มนุษย์นั้น ต้องมีความยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) เราต้องมีความพร้อมในการที่จะกลับไปยังพระองค์ เพื่อที่เราจะได้ใกล้ชิดพระองค์ในวันแห่งการตอบแทน

ท่านทั้งหลาย
หากนับจากวันนี้ไปจนกระทั่งสิ้นเดือนนี้ การตรวจสอบการเห็นเดือนเสี้ยวเพื่อเริ่มเดือนใหม่นั้น เรายังพอมีเวลาเหลือสำหรับการใช้ชีวิตในเดือนชะห์บาน นี้ อีก ประมาณ 11 วัน นั่นคือ หากเห็นเดือนเสี้ยวแล้ว จะเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นเดือนร่อมาดอลอัลมุบาร็อก เพื่อที่เราทั้งหลายจะได้แสวงหาความรักและความปรารถนาดีต่อพระองค์ ทั้งในยามกลางวันและกลางคืน สุดแท้แต่ว่าเรานั้นมีความสามารถที่จะค้นหาได้มากน้อยเพียงใด ขอให้พิจารณาถึงอายะห์แห่งอัลกุรอ่าน โองการจากอัลบ้ากอเราะห์ Al-Qur'an, 002.183 (Al-Baqara [The Cow]) ความว่า
002.183 يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
002.183 O ye who believe! Fasting is prescribed to you as it was prescribed to those before you, that ye may (learn) self-restraint,-
183. บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง
อาจกล่าวได้ว่า จุดมุ่งหมายปลายทางแห่งการถือศีลอด เป็นการตอบสนองความยำเกรงต่อพระองค์ หาใช่สิ่งอื่นใดไม่ โดยทั่วไปมุสลิม ต่างชื่นชอบช่วงเวลาและโอกาสแห่งเดือนร่อมาดอล เพื่อที่เขาเหล่านั้น จะได้แสดงออกถึงบทบาท ความพึงพอใจ และความรัก ในความเป็นมุสลิม ซึ่งภาพรวมของมุสลิมที่เป็นความประทับใจมิรู้ลืม การถือศีลอด การแบ่งปันอาหารระหว่างเพื่อนบ้าน การมาร่วมละศีลอดกันที่มัสยิด หรือตามบ้านต่างๆ ในชุมชน การบริจาคทานให้กับคนยากจน ทั้งทาน(ซะกาต) ที่ถูกกำหนดตามอัตราซึ่งเป็นข้อบังคับตามหลักศาสนา และทาน(ซะกาต) ที่เป็นความสมัครใจของแต่ละคน และการเดินทางไปร่วมละหมาดญะมาอะห์ ทุกค่ำคืนตลอดเดือนสำคัญนี้ ทั้งนี้ เป็นแบบฉบับ แนวทาง และประเพณีอันดีงามของมุสลิม เพื่อสนองตอบถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่แห่งการถือศีลอด นั่นคือการแสดงออกถึงความยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ซึ่งผลพลอยได้ หรือภาคผลอื่นของการถือศีลอดนั้น เช่น การมีสุขภาพที่ดีหลังจากผ่านพ้นการถือศีลอด ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบัน ต่างเห็นถึงความสำคัญของข้อบังคับนี้ ถือเป็นกุศโลบายอันแยบคายของข้อกำหนดของอิสลามที่ให้การถือศีลอดนี้เป็นการรักษาสุขภาพที่ดีของชาวมุสลิม แต่ก็มีกลุ่มชนบางพวกที่ไม่ใคร่ใยดีต่อภารกิจนี้ แต่นั่นคือความคิดของคนที่แม้เป็นมุสลิม แต่เขาเหล่านั้น ยังห่างไกลจากความรักความเมตตาจากพระองค์ ขอดุอาร์จากพระองค์ช่วยทำให้จิตใจของเขาเหล่านั้นกลับมาอยู่ในแนวทางอันเที่ยงตรงของพระองค์ด้วยเทอญ
ท่านทั้งหลาย
วาระสำคัญแห่งเดือนร่อมาดอล หลายๆ ครอบครัว หลายๆ ชุมชน ต่างมีความหวังและมีความภาคภูมิใจ ที่จะเริ่มดำเนินชีวิตในร่องรอยของศาสนา การถือศีลอดทำให้แต่ละคนหันมามองถึงความสุขของคนอื่นๆ มากกว่าความสุขของตนเอง การหยิบยื่นให้แก่กัน เป็นการให้อย่างมีความสุข เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ภาพที่เรามองเห็น การเริ่มต้นดำเนินชีวิตตามร่องรอยของศาสนา ที่เราเห็นเป็นเรื่องที่ดี เช่น ผู้ใหญ่ เด็ก คนชรา ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ต่างมุ่งมั่นยินดีปรีดา เดินทางร่วมกันเพื่อไปยังมัสยิด ลดละเลิกการดูโทรทัศน์ในช่วงหัวค่ำ เพื่อเตรียมตัวไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิด ซึ่งในเดือนอื่นๆ มัสยิดจะมีแต่ความเงียบเหงา แม้ว่า ในแต่ละวันมีข้อบังคับว่ามุสลิมต้องดำรงการละหมาดวันละ 5 เวลา ท่ามกลางการมุ่งมั่นแสวงหาและทุ่มเทให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนมองข้ามความสำคัญและในที่สุดก็ห่างเหินไปจากมัสยิด พวกเราเพลิดเพลินกับภารกิจต่างๆ เราแข่งขันกันเพื่อให้ได้รับความสุขตามอัตรภาพ จนมองข้ามความสำคัญของมัสยิด ปล่อยให้กิจกรรมของมัสยิด เป็นเพียงบทบาทของเด็กๆ ที่เรียนอัลกุรอ่านและฟัรดูอีน เด็กที่โตมาหน่อยก็เริ่มออกห่างและหายไปจากมัสยิด เนื่องจากต้องไปเรียนต่อที่อื่น บางคนก็จะมีเวลากลับมายังมัสยิดเพื่อมาร่วมละหมาดกันในช่วงค่ำ แต่หลายๆ คนเมื่อเรียนจบฟัรดูอีน ต่างก็กลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับมัสยิด แม้ว่าจะกลับมาเยือนมัสยิดอีกครั้งในทุกวันศุกร์ หรือในวันอีด แต่นั่นก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งแห่งบทบาทของมุสลิมเท่านั้น บางคนกลับมามัสยิดอีกครั้ง ในสภาพที่ถูกแบกหามมา เพื่อรอการละหมาดญะนาซะห์แล้วให้คนแบกหามกลับไปยังกุโบร์ เพื่อรอให้ญาติมาเยี่ยมอีกครั้งเมื่อพวกเขารำลึกถึง บทบาทของมัสยิดมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมุสลิมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งตาย มุสลิมตามชนบท จะใช้มัสยิดเป็นภาพลักษณ์แห่งการเรียนรู้และปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนา บางกรณีอาจมองเพียงว่ามัสยิดจะถูกใช้งานก็ต่อเมื่อมีคนมาร่วมละหมาด แต่ในเมืองมัสยิดเป็นสถานที่ที่จะแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของคนในชุมชนนั้น คนที่ร่วมกันบริจาคเพื่อสร้างมัสยิดเหล่านั้น แต่หากเราพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายแห่งการสร้างมัสยิดแล้ว โองการจากอัลกุรอ่านซูเราะห์อัตเตาบะห์ Al-Qur'an, 009.018 (At-Tawba [Repentance, Dispensation]) ความว่า
009.018 إِنَّمَا يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللَّهِ مَنْ آمَنَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَأَقَامَ الصَّلاةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَلَمْ يَخْشَ إِلا اللَّهَ فَعَسَى أُولَئِكَ أَنْ يَكُونُوا مِنَ الْمُهْتَدِينَ
009.018 The mosques of Allah shall be visited and maintained by such as believe in Allah and the Last Day, establish regular prayers, and practise regular charity, and fear none (at all) except Allah. It is they who are expected to be on true guidance.
18. “แท้จริงที่จะบูรณะบรรดามัศยิดของอัลลอฮ์นั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลก และได้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และชำระซะกาต และเขามิได้ยำเกรงนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น ดังนั้นจึงหวังได้ว่า ชนเหล่านี้แหละจะเป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้รับคำแนะนำ
ท่านทั้งหลาย
เราจึงควรปลดปล่อยมัสยิดให้พ้นจากพันธนาการแห่งความเข้าใจผิดเหล่านั้น เพราะการสร้างมัสยิดนั้น มีความหมายที่กว้างกว่าการปฏิบัติศาสนกิจ เพราะมัสยิด คือบ้านของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) เป็นจุดรวมใจของมุสลิม ดังนั้น การสร้างมัสยิดก็เพื่อเป็นสถานที่ที่มุสลิมทุกคนต้องเข้ามายังมัสยิดสถานแห่งนั้น เพื่อแสวงหาความเมตตากรุณาจากพระองค์ และความยำเกรงต่อพระองค์ และการแสวงหาความรู้นั้น เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายเหล่านั้นของการสร้างมัสยิด ดังนั้นมัสยิดหาใช่เพียงมุสลิมในชุมชนนั้นเป็นเจ้าของหรือบทบาทแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของไม่ แต่มัสยิดเป็นสถานที่ของทุกๆ คน เป็นแหล่งแห่งความรู้การค้นคว้า และสรรพวิทยาการต่างๆ ที่เราทั้งหลายต่างมุ่งแสวงหา มัสยิดหาใช่ที่ใช้สำหรับการละหมาดเพียงอย่างเดียว แต่มัสยิดเป็นศูนย์รวมที่จะสั่งสอนตักเตือนกันและกันให้มีความยำเกรงต่อพระองค์ อาจกล่าวได้ว่า มัสยิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพราะอาวุธทางปัญญาของมนุษย์ คือความรู้ และมัสยิดเป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ย่อมมีบทบาทสำคัญที่จะขัดเกลาเยาวชน ผู้ใหญ่ และทุกๆ คนในชุมชน ให้เกิดปัญญา ตามแนวทางของอัลกุรอ่านและแบบฉบับของท่านศาสดา ดังนั้น บทบาทของผู้นำในชุมชนมัสยิด จึงควรมองถึงความก้าวหน้าที่ยั่งยืนของชุมชนด้วยการทำให้มัสยิดสนองตอบการเรียนรู้ของชุมชนและเป็นศูนย์กลางความรู้ของทุกคน การเดินทางมามัสยิด แม้ว่าหนทางการคมนาคมนั้นมีความสะดวก แต่ก็ต้องสิ่งที่ติดขัดนั้นคือตัวบุคคล ยังไม่ยอมปลดปล่อยพันธนาการจากการล่อลวงของชัยตอนมารร้าย ยอมที่จะถูกทำให้กลมกลืนกับคนต่างศาสนา เพราะต้องการใช้ชีวิตร่วมกับชนเหล่านั้นในทำนองเดียวกัน ปกปิดความเป็นมุสลิมของตน กลัวว่าจะถูกมองว่าล้าหลังหากยังต้องกลับไปยังมัสยิด ซึ่งเขาเหล่านั้นเพลิดเพลินไปกับกระแสเหล่านั้นจนลืมมองไปว่าในที่สุดแล้วเขาอาจต้องถูกแบกหามมายังมัสยิดหลังจากเขาถึงอายั้ลของพระองค์แล้ว ขอให้พิจารณาโองการจากอัลกุรอ่านซูเราะห์อัตเตาบะห์ Al-Qur'an, 009.033 (At-Tawba [Repentance, Dispensation]) ความว่า
009.033 هُوَ الَّذِي أَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالْهُدَى وَدِينِ الْحَقِّ لِيُظْهِرَهُ عَلَى الدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ
009.033 It is He Who hath sent His Messenger with guidance and the Religion of Truth, to proclaim it over all religion, even though the Pagans may detest (it).
33. “พระองค์นั้นคือผู้ที่ได้ส่งร่อซูลของพระองค์มาพร้อมด้วยคำแนะนำ และศาสนาแห่งสัจจะ เพื่อที่จะทรงให้ศาสนาแห่งสัจจะนั้นประจักษ์ (คือประจักษ์ความเป็นจริง และความเหมาะสมเหนือทุกศาสนา) เหนือศาสนาทุกศาสนา และแม้ว่าบรรดามุชริกจะชิงชังก็ตาม”
ท่านทั้งหลาย
ขอให้พวกเราทั้งหลาย จงร่วมมือกันนำพาชุมชนของเราให้เป็นชุมชนมุสลิมที่สมบูรณ์ เป็นชุมชนที่ร่วมมือร่วมแรงกัน เพื่อให้เกิดภาคผลแห่งจุดมุ่งหมายแห่งอัลอิสลาม ทำอย่างไรที่จะทำให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งบทบาทนี้มิใช่เพียงแต่เป็นบทบาทของผู้นำในมัสยิด กรรมการมัสยิด หรือโต๊ะเซี้ยะของมัสยิด หากแต่ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนในชุมชนแห่งนั้น ตักเตือนกันและกันให้อยู่ในแนวทางตามครรลองคลองธรรม นั่นคือ ตักเตือนกันตามขั้นตอนตามแบบฉบับของท่านศาสดา โดยมีความสมานฉันท์ ความรักสามัคคี ความปรองดอง และ ความประนีประนอมระหว่างกัน การก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างกันมิใช่เป็นการก้าวข้ามด้วยกำลัง หรือคำพูดที่รุนแรง แต่ต้องใช้แนวทางและความร่วมมือร่วมใจกันของทุกๆ ฝ่ายในชุมชน เพื่อที่จะนำพาชุมชนให้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันเหมือนดั่งที่เราดำเนินชีวิตในช่วงเดือนร่อมาดอล เรามีจิตใจที่ดีงามระหว่างกัน ละหมาดร่วมกัน แบ่งบันในสิ่งที่มีคุณค่าระหว่างกัน ดังนั้น จึงอยากเห็นบรรยากาศของชุมชนของเราในช่วงเวลาอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกับช่วงเวลาของการดำเนินชีวิตในเดือนร่อมาดอล เพื่อย้ำเตือนข้าพเจ้าและท่านทั้งหลายให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามแบบฉบับของอิสลาม ดังโองการจากอัลกุรอ่านซูเราะห์อัตเตาบะห์ Al-Qur'an, 009.071 (At-Tawba [Repentance, Dispensation]) ความว่า
009.071 وَالْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بَعْضُهُمْ أَوْلِيَاءُ بَعْضٍ يَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِ وَيُقِيمُونَ الصَّلاةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَيُطِيعُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ أُولَئِكَ سَيَرْحَمُهُمُ اللَّهُ إِنَّ اللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٌ
009.071 The Believers, men and women, are protectors one of another: they enjoin what is just, and forbid what is evil: they observe regular prayers, practise regular charity, and obey Allah and His Messenger. On them will Allah pour His mercy: for Allah is Exalted in power, Wise.
71. “และบรรดามุมิน(คือผู้ที่ศรัทธาต่อนะบีที่อัลลอฮ์ทรงส่งมา)ชาย และบรรดามุมินหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน(คือต่างเป็นผู้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน) ซึ่งพวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ชอบและห้ามปรามในสิ่งที่ไม่ชอบ และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายซะกาต และภักดีต่ออัลลอฮ์ และร่อซูลของพระองค์ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮ์จะทรงเอ็นดูเมตตาแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ”
ดังนั้น สิ่งที่พบในเดือนร่อมาดอล เป็นสิ่งที่ทุกๆ ฝ่ายอยากให้เกิดขึ้นในเดือนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยที่มัสยิดเป็นศูนย์รวมและเป็นสถานที่ที่ทุกคนจะไปร่วมกัน เพื่อประกอบศาสนกิจ ซึ่งรวมถึงการนำไปสู่การแสวงหาความรู้และแหล่งรวมความรู้ มัสยิดจึงมิใช่สถานที่ที่มีเพียงเฉพาะการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าในหลายๆ ชุมชน แสดงออกด้วยความโอ่อ่าของมัสยิดสถาน แต่ปรากฏว่าการใช้งานมัสยิดไม่คุ้มค่าเท่ากับมูลค่าแห่งมัสยิดนั้นๆ เลย เพราะในชุมชนนั้นใช้งานมัสยิดแต่เพียงบางโอกาสเท่านั้น หาใช่ใช้งานอย่างเป็นประจำ และบุคลากรหรือผู้นำมัสยิดก็ไม่แสดงศักยภาพแห่งการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันเข้ามาใช้มัสยิดเพื่อแสวงหาความรู้หรือกิจกรรมทางศาสนา บางชุมชน อาจเป็นแหล่งที่จะขับไล่บางคนให้ออกไปจากมัสยิดแม้แต่การละหมาดญะนาซะห์ก็ไม่ให้นำมายังมัสยิด ซึ่งขัดกับหลักการแห่งบทบัญญัติของศาสนา ดังนั้น ในวันนี้ และเดือนแห่งความสำคัญที่จะเวียนมาถึงอีกครั้งนี้ จึงขอให้แต่ละคน และทุกๆ จงแบ่งปันปัจจัยแห่งการเรียนรู้และเพิ่มพูนปัจจัยเหล่านั้น ด้วยการกลับมามัสยิดและหันหน้าเข้ามายังมัสยิดเพื่อร่วมกันศึกษาหาความรู้เพื่อเป็นวัคซีนป้องกันความชั่วร้าย และหากทุกๆ คนได้รับวัคซีนเหล่านี้ด้วยกันแล้ว แน่นอนชุมชนของเราจะได้เป็นชุมชนที่ปราศจากความชั่วร้ายเหล่านั้น ขอให้ทุกๆ คนจงร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อชุมชนของเรา
إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا
رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ
إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ
سُبْحَانَ رَبِّكَ رَبِّ الْعِزَّةِ عَمَّا يَصِفُونَ
وَسَلامٌ عَلَى الْمُرْسَلِينَ
وَالْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ
ว่าบิ้ลลาฮิเตาฟีก วั้ลฮิดายะห์
วัสสลาม
มูฮำหมัด สันประเสริฐ

อ้างอิง
Text Copied from DivineIslam's Qur'an Viewer software v2.9
อัลกุรอ่านฉบับภาษาไทย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ดำเนินการจัดพิมพ์โดยกระทรวงกิจการฮัจย์ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาเบีย
http://www.alquran-thai.com/

อัลฮาดีซ : Hadith of The Day V 1.0 Freeware by FaridAnasri avater@muslimonline.com (www.beconvinced.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น