วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รับรองคุณสมบัติ

มิมบัรออนไลน์


คุตบะห์วันศุกร์ 21 ชะห์บาน 1432 (วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)


รับรองคุณสมบัติ



الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلا تَمُوتُنَّ إِلا وَأَنْتُمْ مُسْلِمُونَ



ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย


การรอคอยด้วยใจจรดใจจ่อในแต่ละสถานการณ์ เป็นการย้ำเตือนให้เราได้เห็นถึงคุณค่าแห่งการรอคอย แต่ละวินาทีที่หมดไป มันช่างเป็นการบีบคั้นหัวใจ ความรู้สึกตื่นเต้นในช่วงเสี้ยววินาทีที่มีการตัดสิน การแสดงออกถึงความดีใจ ภายหลังการรับรองผล หรือการแสดงออกให้เห็นถึงความเสียใจ เมื่อไม่ได้การรับรอง ส่งผลให้ภารกิจที่เรากำลังรอคอยอยู่นั้นต้องวนกลับมาเริ่มต้นกระบวนการใหม่ หรือหากถูกตัดสินด้วยการตัดสิทธิ์ นั่นเป็นผลให้เราไม่สามารถแก้ตัว แก้มือในวาระโอกาสใหม่ได้อีกเลย จึงของย้ำเตือนตนเองและท่านทั้งหลาย ถึงการรอคอยการตอบแทนในทุกๆ ภารกิจของเรา ด้วยความยำเกรงต่อพระผู้ทรงอภิบาล ด้วยความนอบน้อมและพินิจพิจารณาตนเองอยู่เรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ทบทวนการกระทำ ขอลุแก่โทษกับบุคคลที่เราไปละเมิดต่อพวกเขาเหล่านั้น ขออภัยโทษในการกระทำที่ล่วงเกินต่อเขาเหล่านั้น รวมถึงการเตาบัรกลับตัวในการกระทำที่พลาดพลั้งผิดไป เพราะในระหว่างการรอคอยการรับรองคุณสมบัติ นั้น ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร แน่นอนว่าผลที่ได้นั้น จะเป็นไปในแต่ละแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งนั้น การแก้สถานการณ์ที่ดี คือการยอมรับความจริง ยอมรับผลที่ได้จากการกระทำทั้งปวงของเรา หากการกระทำของเราไปผิดหลักการ แน่นอนว่าเราต้องยอมรับผลดังกล่าวนั้น


ท่านทั้งหลาย


การรับรองคุณสมบัติ เป็นกระบวนการตรวจสอบขั้นสุดท้าย ก่อนที่เหล่าบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายจะได้เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาอย่างเป็นทางการ เป็นกระบวนการหรือเป็นขั้นตอนสำคัญในการกลั่นกรองก่อนที่เขาเหล่านั้นจะไปทำหน้าที่เป็นนักการเมืองเป็นผู้แทนราษฎรอย่างสมเกียรติ กับทุกๆ คะแนนเสียงที่เลือกตั้งให้เขาไปเป็นปากเสียงแทนเรา การทำหน้าที่รับรองผล จะรวมกระบวนการต่างๆไว้เพื่อพิจารณาว่าเขาคนนั้นเหมาะที่จะไปทำหน้าที่หรือไม่ ทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุโทษ และมีบทลงโทษไว้หรือไม่ ทำทุจริตต่อกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีต่อคะแนนเสียงของตนเองหรือผู้สมัครคนอื่นๆ หรือไม่ หรือทำความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้นหรือไม่ ซึ่งจะรวมถึงความผิดขององค์กรหรือพรรคการเมืองอันเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ กระบวนการตรวจสอบอาจละเอียดอ่อน และทำให้บางฝ่ายอาจขุ่นข้องหมองใจได้รับผลกระทบกระเทือนบ้าง แต่นั่นเพื่อเป็นการป้องกัน ป้องปราม คนที่ไม่สุจริตที่จะเข้าไปถอนทุนคืน หรือปกป้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มและบรรดาพวกพ้องของตนเอง ผลการรับรองคุณสมบัติ จึงเป็นกระบวนการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของทุกๆ คนที่ทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ปกป้องการทำหน้าที่ผู้แทนของปวงชนให้ได้การยอมรับว่าผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากที่สุด ทุกคะแนนเสียงที่มีคนเลือกตั้งเขาเป็นคะแนนที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปเป็นผู้แทนด้วยความเป็นธรรม เช่นกันผู้ที่ไม่ได้รับความไว้วางใจซึ่งเป็นคะแนนเสียงส่วนน้อยที่เขาไม่ได้รับฉันทานุมัติให้เข้าไปทำหน้าที่ก็ตาม นั่นคือกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยที่ต้องสรรหาตัวแทนอย่างแท้จริงจากการเลือกของคนส่วนใหญ่ เพื่อสะท้อนปัญหาและสิ่งที่ต้องการตามนโยบายที่แต่ละฝ่ายใช้ในการรณรงค์หาคะแนนเสียงสนับสนุน มิใช่ใช้กำลังทรัพย์ทุ่มเทเพื่อซื้อเสียงหาคะแนนในแต่ละเขตเลือกตั้ง


ท่านทั้งหลาย


การตรวจสอบและการรับรองผล มีในหลายๆ ภาคส่วน เพื่อให้ได้รับสิ่งที่มีความชัดเจน เหมาะสม มีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในการรับรองผลการตรวจสินค้า “ฮาล้าล” จะมีกระบวนการที่ชัดเจน มีมาตรฐานตามหลักการของศาสนาในเรื่องของความสะอาดตามหลักต้อฮาเราะฮ์ การชะล้างต่างๆ หรือในการผลิตอาหาร การเชือดต้องดำเนินการตามหลักการของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดชัดเจน สิ่งเหล่านี้ หากพิจารณาว่าทุกๆ สายตาต้องเห็นถึงกระบวนการก็ไม่ใช่ เพียงแต่สายตาของกรรมการที่บ่งบอกและให้คำรับรองผล รับรองคุณสมบัติ แน่นอนว่าความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ดังนั้น ประโยชน์อย่างชัดเจนจากคำรับรองผลคำรับรองคุณสมบัติ นั้นๆ จะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและสามารถบริโภคได้ตามหลักการศาสนา ซึ่งเป็นแนวทางและหลักการที่เราทั้งหลายยอมรับและถือปฏิบัติ ด้วยความยำเกรง ซึ่งการดำเนินการในรูปแบบของกรรมการ มติของกรรมการอย่างเป็นเอกฉันท์ หรือเป็นเสียงส่วนใหญ่ จะเป็นตัววัดที่ทรงพลังและเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการทำหน้าที่เพื่อให้สังคมโดยรวมสามารถดำเนินภารกิจในชีวิตประจำวันได้โดยสะดวกสบายและเกิดความมั่นใจ แต่ถ้าเราพิจารณาในแต่ละปัจเฉกบุคคลแล้ว โดยเฉพาะในตัวบุคคลแต่ละคนการให้การรองรับความเป็นมุสลิม การเป็นศาสนิกชนที่ดีแล้ว แม้ว่าในสำมโนครัวหรือทะเบียนราษฎร์และในบัตรประจำตัวประชาชน ที่ระบุศาสนาหรือความเชื่อถือศรัทธาที่ระบุตัวบุคคลว่า “นับถือศาสนาอิสลาม” จะเป็นการรับรองตนเองโดยมีหลักฐานของหนังสือของทางราชการ เป็นการรับรองอย่างหนึ่ง แต่เป็นเพียงการรับรองตัวตนใน ความเชื่อเบื้องต้น แต่ไม่สามารถรับรองความประพฤติและแนวทางปฏิบัติของเขาเหล่านั้นได้ว่า เขาได้ปฏิบัติตามคำรับรองความเป็นศาสนิกชนด้วยความจริงใจแค่ไหนอย่างไรบ้าง เพราะในบางคนแล้วทางทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนสัปบุรุษของมัสยิด ระบุว่า เป็นมุสลิม เป็นสมาชิกของมัสยิด แต่พฤติกรรมของเขาแตกต่างจากความเป็นมุสลิมอย่างสิ้นเชิง แม้มีเอกลักษณ์ในการกินเพียงอย่างหนึ่งคือไม่กินหมู เท่านั้น นอกนั้นแล้วไม่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆ เลย การดำเนินชีวิตของเขา หากเขาไม่บอกใครว่าเขาเป็นมุสลิมคนหนึ่ง หรือมีความเชื่อถือเลื่อมใสศรัทธาในหลักการของศาสนาอิสลาม แน่นอนว่าคนโดยทั่วๆ ไป จะไม่ทราบได้เลยว่าเขาเป็นสมาชิกภาพในความเป็นมุสลิม เขามีหลักการศรัทธาและปฏิบัติตามหลักการแห่งโอการของอัลกุรอ่านและปฏิบัติในแนวทางและแบบฉบับของท่านศาสดาแต่สิ่งเขาเหล่านั้นกระทำ เพียงแค่การปฏิบัติเพียงบางอย่างและละทิ้งอุดมการณ์ใหญ่ๆ ทางศาสนา เช่น ในหลักปฏิบัติเขากระทำขาดตกบกพร่องทุกอย่าง ทั้งการละหมาด การถือศีลอด และการบริจาคซ่ากาตตามแนวศาสนบัญญัติ แต่ในบางพิธีกรรมเช่น เมื่อจะแต่งงาน ก็ดำเนินการไปตามแฟชั่น ไม่รู้แนวทางที่ถูกต้อง รู้อย่างเดียวว่า “ความรักไม่มีศาสนา” เมื่อถึงคราวแต่งงาน ก็เพียงชัดพิธีกรรรมโดยให้อิหม่ามดำเนินการให้เสร็จไปเป็นพิธี โดยไม่มองถึงหลักการที่กำหนดในศาสนา ทำเพียงให้ผ่านพ้นไปเพื่อให้ญาติสบายใจเท่านั้น บางคนต้องกระทำพิธีหลายศาสนาตามความเชื่อถือของแต่ละฝ่าย ไม่ใยดีว่าหลักการที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ละเลยมองข้ามเพียงให้คนโดยทั่วไปมองว่า ถือหลักประชาธิปไตยในครอบครัว ไม่ต้องถือตามกัน ซึ่งผิดหลักผิดแนวทางของอิสลาม ขอให้เราพิจารณาโองการจาก ซูเราะห์ Al-Qur'an, 003.102 (Aal-E-Imran [The Family of Imran]) ความว่า


003.102 يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلا تَمُوتُنَّ إِلا وَأَنْتُمْ مُسْلِمُونَ


003.102 O ye who believe! Fear Allah as He should be feared, and die not except in a state of Islam.


102. โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงยำเกรงอัลลอฮ์อย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าจงอย่าตาย (คือให้เรามีชีวิตอยู่ในวิถีทางของอัลลอฮ์อยุ่เสมอ เพื่อว่าเมื่อได้ตายลง จะได้ตายในฐานะผู้นอบน้อมต่ออัลลอฮ์ถ้ามิเช่นนั้นแล้วก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเราจะตายในฐานะใด) เป็นอันขาดนอกจากในฐานะที่พวกเจ้าเป็นผู้นอบน้อมเท่านั้น (คือเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในฐานะเป็นผู้จงรักภักดีต่ออัลลอฮ์)


พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงรับรองมวลมุสลิมทุกๆ คนในความเมตตาแก่บรรดาประชาชาติทั้งหลายเพียงแต่เสี้ยวหนึ่งของชีวิตของเขารับรู้และรู้ซึ้งในความศรัทธาต่อพระองค์ น้อมรับความเมตตาจากพระองค์ เพียงเท่านั้น เขาก็จะได้รับโอกาสจากพระองค์ในการได้รับแนวทางอันเที่ยงตรงและผลลัพธ์ในสิ่งอันมีค่ามหาศาลจากพระองค์ ดังโองการข้างต้นที่บ่งบอกได้ว่า เราทั้งหลาย “ต้องตายในอีหม่าน” หรือตายในแบบฉบับของผู้ศรัทธาและน้อมนอบมอบหมายต่อพระองค์ นั่นคือ พระองค์ทรงรับรองความเป็นมุสลิมให้กับทุกคนที่เขามีความน้อมรับในพระเมตตาของพระองค์ แม้เพียงนิดเดียวเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตหรือแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของลมหายใจของเขาเหล่านั้นในการกลับตัวกลับใจตอบรับด้วยความยำเกรงก่อนหมดลมหายใจของเขา


ท่านทั้งหลาย


ในเมื่อการรับรองคุณสมบัติในเชิงคุณภาพจองแต่ละปัจเฉกบุคคล เราไม่สามารถบอกได้ว่า เราเป็นคนเช่นไร การยอมรับจากคนอื่นๆ คือสิ่งที่สังคมใช้เป็นสิ่งสะท้อนเพื่อการตรวจสอบจากคนอื่น เสมือนหนึ่งว่าเราส่องกระจกเพื่อมองดูตนเอง เพื่อเราจะได้ล่วงรู้ถึงสิ่งเป็นในตัวเรา ดังนั้นการที่คนอื่นมองเราจึงมีมุมมองที่แตกต่างจากความคิดของเรา เช่น การรับรองว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นที่ยอบรับของคนอื่นๆ ในสังคม นั้น คนๆ นั้น จะบอกว่าตนเองเป็นคนดี เป็นที่ยอมรับของทุกๆ คนไม่ได้ ต้องให้คนอื่นมองเรา หากทุกๆ คนมองแล้วเห็นไปในทางเดียวกัน แน่นอนว่าสามารถตอบได้เขาคนนั้นเป็นคนดี เป็นที่ยอมรับของคนโดยทั่วๆ ไป เช่นกันหากเขาถูกมองด้วยสายตาแสดงความน่ารังเกียจไปในทางเดียวกัน แม้คนๆ นั้นจะบอกว่าเขาเป็นคนดี ก็ไม่สามารถจำแนกได้ว่าเขาเป็นคนดีหรือเป็นที่ยอมรับน่าเชื่อถือของสังคมได้ ดังนั้น การที่เราอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม การยอมรับ การรับรองของเราเองยังไม่เพียงพอหากแต่ต้องให้คนอื่นๆ ยอมรับในคุณค่าและความสำคัญในเรื่องหนึ่งๆ ของเราด้วย เพื่อที่เราจะได้ใช้โอกาสนี้ในการทำงานเพื่อสังคม และความประพฤติและพฤติกรรมของเราก็ต้องเป็นที่น่าเชื่อถือกับคนอื่นๆ ด้วยในขณะเดียวกัน เพราะการรับรองถือว่าเป็นความสำคัญอันหนึ่งที่เราต้องนำมาพิจารณา เพื่อที่จะทำให้ทุกๆ คนในสังคมไม่ระแวงหรือสงสัยในตัวเราในการทำงานร่วมกันกับเขาเหล่านั้น


ท่านทั้งหลาย


การับรอง จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกๆ ฝ่ายในสังคมในเป็นมาตรการในการยอมรับที่บ่งบอกได้ว่า คนๆ นั้น มีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะทำหน้าที่ตามกฎเกณฑ์ กติกาที่ได้ถูกกำหนดไว้ โดยเฉพาะในการทำหน้าที่ หรือในเรื่องความสำคัญของการทำหน้าที่ที่ต้องกระทำในภาพรวมของสังคม ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ จะถูกตรวจสอบในหลายๆ ทิศทาง จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนที่ขาดคุณสมบัติหากการกลั่นกรองในเบื้องต้นถูกมองข้ามเลยไป เช่นนี้ สังคมจึงวางกรอบไว้ให้ครอบคลุมเพื่อกลั่นกรองเป้นกระบวนการตรวจสอบหนึ่งที่จะสกัดกั้นคนที่ทุจริตแล้วจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของผู้มีส่วนได้เสียที่ถูกรอนสิทธ์ ให้ได้รับสิทธ์อันชอบธรรมของเขาเหล่านั้น เช่นเดียวกับสิทธ์ของคนยากจน ขัดสน ยากไร้ นั้น เมื่อคุณสมบัติของเขาเหล่านั้นถูกต้องครบถ้วนว่าเขามีสิทธ์ที่จะได้รับ “ซ่ากาต” แล้ว แน่นอนว่าบรรดาทรัพย์สินต่างๆ ที่มีพิกัดครบกำหนดตามเงื่อนไขของพิกัดที่ต้องออกซ่ากาตและครบรอบปี(เดือนอิสลาม นับทางจันทรคติ) ทรัพย์สืนเหล่านั้น ย่อมเป็นสินทรัพย์ที่ชอบธรรมของคนที่มีสิทธ์รับซ่ากาตโดยชอบธรรม การที่คนที่มีทรัพย์สินแล้วหวงทรัพย์นั้นไว้ แน่นอนว่าเขากำลังละเมิดสิทธ์ของเขาเหล่านั้นโดยที่เขาขาดความยำเกรงในพระเมตตาของพระองค์ ขอให้พิจารณาอัลฮาดีส ความว่า


he Prophet said, "(On the Day of Resurrection) camels will come to their owner in the best state of health they have ever had (in the world), and if he had not paid their Zakat (in the world) then they would tread him with their feet; and similarly, sheep will come to their owner in the best state of health they have ever had in the world, and if he had not paid their Zakat, then they would tread him with their hooves and would butt him with their horns." The Prophet added, "One of their rights is that they should be milked while water is kept in front of them." The Prophet added, "I do not want anyone of you to come to me on the Day of Resurrection, carrying over his neck a sheep that will be bleating. Such a person will (then) say, 'O Muhammad! (please intercede for me.)' I will say to him. 'I can't help you, for I conveyed Allah's Message to you.' Similarly, I do not want anyone of you to come to me carrying over his neck a camel that will be grunting. Such a person (then) will say 'O Muhammad! (please intercede for me).' I will say to him, 'I can't help you for I conveyed Allah's message to you.' " Narrated by: Abu Huraira Source: Sahih Al-Bukhari



ในช่วงเดือนรอมฎอนที่กำลังจะเวียนมาถึง ซึ่งในปีนี้ (ฮ.ศ. 1432) วันที่ 1 รอมฎอน 1432 จะตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม 2554 อินชาอัลลอฮ์ เราทุกคนในประเทศไทย คงจะได้เริ่มต้นถือศีลอดโดยพร้อมเพรียงกันไม่แตกต่างและไม่ลักลั่น เช่นกันในแต่ละปีรอมฎอนที่จะเข้ามาถึง หลายๆ คนเตรียมกายเตรียมใจต้อนรับ ขอให้ทุกท่านประสบผลสำเร็จในการอิบาดัรมุ่งตรงต่อพระองค์ แต่ขอให้เราทุกๆ คน จงมุ่งมั่นให้ถึงเป้าหมายของการถือ ศีลอด งดเว้นการกระทำที่บั่นทอนอิบาดัร อันยิ่งใหญ่นี้ ลด ละ เลิกกิจกรรมที่ไร้สาระ ของสายตา รวมถึงประสาทสัมผัสอื่นๆ เช่น หู กาย และใจ และงด เพื่อให้ได้คะแนนเต็มทุกๆ ด้าน และสิ่งหนึ่งที่จะฝากไว้ก็คือ การเรียนรู้ ทบทวนอัลกุรอ่าน ทั้ง อักขระ และความหมาย และอีกสิ่งหนึ่ง คือ การให้ “ซ่ากาต” กับคนที่มีสิทธ์ที่จะได้รับ ขอเราอย่าได้เพิกเฉยหรือละเลยเขาเหล่านั้น เพราะภาคผลและเป้าหมายของการถือศีลอด นั้น จุดประสงค์หลักก็เพื่อที่เราจะไม่ลืมความทุกข์ยากเวทนาต่อเขาเหล่านั้น เมื่อเราต้องการได้สิทธิแห่งการรับรองคุณสมบัติของเราแล้ว เราก็อย่าบั่นทอนสิทธิของผู้ที่มีสิทธิด้วยเช่นกัน




إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا


رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ


إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ


سُبْحَانَ رَبِّكَ رَبِّ الْعِزَّةِ عَمَّا يَصِفُونَ


وَسَلامٌ عَلَى الْمُرْسَلِينَ


وَالْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ


ว่าบิ้ลลาฮิเตาฟีก วั้ลฮิดายะห์


วัสสลาม


มูฮำหมัด สันประเสริฐ


อ้างอิง


อัลกุรอ่านฉบับภาษาไทย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ดำเนินการจัดพิมพ์โดยกระทรวงกิจการฮัจย์ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาเบีย http://www.alquran-thai.com/ShowSurah.asp , www.DivineIslam.com


อัลฮาดีซ : Hadith of The Day V 1.0 Freeware by FaridAnasri avater@muslimonline.com www.beconvinced.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น