วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

การให้เพื่อให้

มิมบัรออนไลน์
คุตบะห์วันศุกร์ 22 เซาวาล 1431 (วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553)
การให้ เพื่อให้
الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ
لَنْ تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّى تُنْفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ وَمَا تُنْفِقُوا مِنْ شَيْءٍ فَإِنَّ اللَّهَ بِهِ عَلِيمٌ
لا يَسْتَأْذِنُكَ الَّذِينَ يُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ أَنْ يُجَاهِدُوا بِأَمْوَالِهِمْ وَأَنْفُسِهِمْ وَاللَّهُ عَلِيمٌ بِالْمُتَّقِينَ
إِنَّمَا يَسْتَأْذِنُكَ الَّذِينَ لا يُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَارْتَابَتْ قُلُوبُهُمْ فَهُمْ فِي رَيْبِهِمْ يَتَرَدَّدُونَ

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย
ขอเตือนตนเองและท่านทั้งหลาย จงยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ให้มากๆ เพราะไม่มีสิ่งใดๆ อีกแล้วที่เราจะหวังพึ่งพานอกจากพระองค์ และสำหรับพระองค์เท่านั้น ที่เราทั้งหลายต่างมุ่งหวังความโปรดปราณ ความเมตตาปราณีจากพระองค์ เฉพาะพระองค์เท่านั้น ที่หาสิ่งใดเทียบเคียงกับพระองค์ได้ไม่ เฉพาะพระองค์ คือผู้ให้ที่ยิ่งให้ หากเราจะพิจารณาบุคคลหรือสรรพสิ่งต่างๆ แล้ว จะพบว่า ไม่มีใครหรือสิ่งใดที่จะให้โดยไม่หวังภาคผลตอบแทน พระองค์คือผู้สร้าง ผู้ให้ ผู้สังเกต ผู้ที่ตรวจสอบ และทดสอบ ตลอดจนสอดส่องและใจใส่ต่อผู้ถูกสร้างทั้งหลาย เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้น จะสนองถึงสิ่งที่บัญชาให้และห้ามจากพระองค์ ซึ่งการที่เราจะได้ใกล้ชิดกับพระองค์ ก็ด้วยความที่เราได้สนองพระบัญชาของพระองค์ ในเรื่องการใช้และการห้ามจากพระองค์ ดังนั้น เราจึงควรตรวจสอบการกระทำทั้งหลายของเรา สิ่งใดบ้างที่เราบกพร่อง และเรามีแนวทางแก้ไขความบกพร่องอย่างไร และการแก้ไขเรื่องต่างๆดังกล่าวนั้นได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ เพราะในช่วงที่มีเวลาว่างและสุขภาพที่ดี เป็นช่วงที่ดีที่สุดของการตรวจสอบอามั้ลของเรา และหากพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว เราอาจไม่สามารถแก้ไขความบกพร่องของอามั้ลของเราได้ ดังนั้น การที่เราสามารถตรวจสอบตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ และแก้ไขได้อย่างทันท่วงที แน่นอนว่า เราย่อมเกิดความพร้อมของการดำเนินชีวิต เกิดความมุ่งมั่นและมีความสุขในการดำเนินชีวิตตามแนวทางที่พระองค์ทรงรักและอยู่ในความเมตตาของพระองค์
ท่านทั้งหลาย
การกระทำทุกๆ กิจการนั้น ล้วนมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายปลายทางเพื่อพระองค์ทั้งสิ้น ไม่ว่าการกระทำใดๆ ของเราล้วนแล้วแต่มุ่งมั่นสนองพระบัญชาของพระองค์ หากเราพิจารณาแนวปฏิบัติพื้นฐานเพื่อพระองค์นั้น หลักปฏิบัติของมุสลิมตามแนวทางที่พระองค์ทรงใช้ซึ่งประกอบไปด้วย การกล่าวหรือปฏิญาณตน (ชะฮาดะห์ ) การละหมาด การบริจาคซากาต การถือศีลอด และการบำเพ็ญหัจญ์ นั้น มีเป้าหมายมุ่งตรงต่อพระองค์แทบทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นภารกิจสำคัญสำหรับมุสลิมโดยตรง ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ โดยไม่ใช่การฏิบัติอื่นใด นอกจากเป็นการมุ่งมั่นสำหรับพระองค์เพียงพระองค์เดียว ซึ่งหากเรามีเป้าหมายอื่นใดเคลือบแคลงปะปนไปกับอามั้ลของเราด้วยแล้ว แน่นอนว่าอามั้ลที่เราปฏิบัตินั้น หาใช่อามั้ลที่มุ่งตรงสำหรับพระองค์ แต่เป็นการกระทำที่เคลือบแคลงสงสัยและไม่ใช่อามั้ลสำหรับพระองค์ ดังนั้น ในเบื้องต้นของการประกอบอามั้ลของเรานั้น เราจึงควรตรวจสอบในเบื้องต้นก่อนว่า อามั้ลของเรานั้นเรามีจุดมุ่งหมายเพื่อพระองค์เพียงพระองค์เดียวหรือไม่ เรามีจุดมุ่งหมายอื่นใดเคลือบแฝงด้วยหรือเราจะโอ้อวดการกระทำของเราไปพร้อมๆ กันหรือไม่ เพราะนั่นคืออันตรายอย่างยิ่งสำหรับมวลมุสลิมทั้งหลายที่มุ่งมั่นกระทำอิบาดัรสำหรับพระองค์
ท่านทั้งหลาย
การประกอบอิบาดัรของเรา เพื่อแสดงออกถึงความเป็นมุสลิม นั้น การกระทำต้องสัมพันธ์กันทั้งกาย วาจา และจิตใจ ซึ่งอิบาดัรของเรานั้น เป็นการแสดงออกถึงการใช้เวลา ท่วงทีกิริยา พร้อมทั้งจิตใจ จะต้องสัมพันธ์กัน ซึ่งการประกอบอิบาดัรนั้น จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้เวลา สถานที่ ทรัพย์สิน และสภาวะทางจิตใจ ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นของเราต้องมุ่งตรงต่อพระองค์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะการบริจาคซากาต นั้น จะแตกต่างจากอิบาดัรอื่นๆ เพราะเป็นอิบาดัรที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน เป็นการใช้จ่ายทรัพย์สิน และสิ่งหนึ่งที่ติดตามมา คือ การหวงแหนทรัพย์สิน การเสียดายทรัพย์สิน รวมไปถึงสภาวะทางจิตใจที่เกิดจากการจมปลักอยู่ในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นๆ
อิบาดัรที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สิน มีข้อจำกัดถึงอัตราพิกัดของจำนวนทรัพย์สินที่เราต้องบริจาคเมื่อถึงเวลาที่กำหนดในรอบปีหนึ่งๆ แน่นอนว่า เมื่อเราต้องใช้จ่ายทรัพย์สินนั้นไปแล้ว เราอาจเกิดความเสียดายในทรัพย์สินนั้น บางครั้งเราอาจมองต่อยอดเช่นเดียวกับการลงทุน กล่าวคือ ต้องการได้รับมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนในทรัพย์สินนั้น ด้วย แม้ว่าจะเป็นการบริจาคทานปัจจัยก็ตาม เสมือนหนึ่งว่า เราต้องได้รับผลประโยชน์จากมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นนั้นด้วย นั่นคือ สิ่งที่ท้าทายจากการใช้ทรัพย์สินตามแนวทางของพระองค์ เป็นการใช้ทรัพย์สินที่เราต้องแบ่งปัน ให้ กลับคืนสู่ผู้ที่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น แม้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวนั้น จะหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราก็ตาม แต่หากครบกำหนดตามกรอบแห่งระยะเวลา และพิกัดอัตราของการครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ทรัพย์สินที่เกินจากอัตราดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นทรัพย์สินโดยชอบธรรมของสังคมที่ต้องแบ่งปันให้กับบรรดาผู้ที่มีสิทธิ์อันพึงได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการปฏิบัติของมุสลิม ขอให้พิจารณาโองการจากซูเราะห์ อาลิอิมรอน Al-Qur'an, 003.092 (Aal-E-Imran [The Family of Imran]) ความว่า
003.092 لَنْ تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّى تُنْفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ وَمَا تُنْفِقُوا مِنْ شَيْءٍ فَإِنَّ اللَّهَ بِهِ عَلِيمٌ
003.092 By no means shall ye attain righteousness unless ye give (freely) of that which ye love; and whatever ye give, of a truth Allah knoweth it well.
92. พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ และสิ่งใดที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริงอัลลอฮฺทรงรู้ในสิ่งนั้นดี
ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินดังกล่าว เป็นสิทธิ์ของพวกเขาเหล่านั้นแล้ว เราเป็นเพียงผู้ที่ต้องตอบสนองพระบัญชาใช้ของพระองค์ เพื่อแสดงออกถึงความยำเกรงต่อพระองค์ ซึ่งการแบ่งปันดังกล่าวหาใช่ เพื่อสนองตอบถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะประโยชน์ที่จะได้รับจากเรื่องราวดังกล่าวหาใช่ผลลัพท์ที่จะสะท้อนกลับมายังผู้บริจาค อาจกล่าวได้ว่า การบริจาคซากาตเป็นการให้เพื่อที่จะให้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเห็นผลลัพท์จากการตอบแทนความดีของเราจากผู้ที่ได้รับซากาตจากเราเท่านั้น แต่เป้าหมายนั้น คือการแสดงออกถึงความยำเกรงต่อพระองค์ หาใช้เพื่อสิ่งอื่นใดไม่ เพราะนั่นคือพระบัญชาใช้จากพระองค์ ดังนั้น ในการที่เราจะบริจาคสิ่งใดๆ เราจึงควรเลือกสิ่งที่ดีมีคุณภาพให้กับผู้ที่มีสิทธิ์รับซากาต หาใช่การที่เราจะไปเรียกร้องสิทธิประโยชน์ หรือเรียกร้องบุญคุณจากสิ่งที่เราได้บริจาคออกไป เพราะนั่นหาใช่เป็นการสนองตอบต่อพระองค์ไม่ แต่เป็นการแสดงออกถึงการใช้ที่หวังผลตอบแทน เป็นความเสียดายในทรัพย์สิน ที่เราไม่สามารถสลัดภาพแห่งการหวงแหนออกไปได้ และผลร้ายแห่งสิ่งนั้น คือ เราไม่ได้สนองพระบัญชาใช้เพื่อพระองค์ หากแต่เป็นการลงทุนที่ขาดทุนย่อยยับอย่างสิ้นเชิง
ขอให้พิจารณาโองการจากซูเราะห์อัตเตาบะห์ Al-Qur'an, 009.044-045 (At-Tawba [Repentance, Dispensation]) ความว่า
009.044 لا يَسْتَأْذِنُكَ الَّذِينَ يُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ أَنْ يُجَاهِدُوا بِأَمْوَالِهِمْ وَأَنْفُسِهِمْ وَاللَّهُ عَلِيمٌ بِالْمُتَّقِينَ
009.044 Those who believe in Allah and the Last Day ask thee for no exemption from fighting with their goods and persons. And Allah knoweth well those who do their duty.
44. “บรรดาผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลกนั้นจะไม่ขออนุมัติต่อเจ้าในการที่พวกเขาจะเสียสละทั้งด้วยทรัพย์ของพวกเขา และชีวิตของพวกเขา (หมายถึงพวกเขาอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะรู้จักหน้าที่ของตน เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาจะเสียสละทรัพย์และชีวิตของเขาแล้ว เขาจะนำทรัพย์ของเขาไปมอบให้แก่ท่านนะบี และเตรียมตัวออกทำการต่อสู้ทันที โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อท่านนะบีแต่อย่างใด) และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ต่อบรรดาผู้ที่ยำเกรง”

009.045 إِنَّمَا يَسْتَأْذِنُكَ الَّذِينَ لا يُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَارْتَابَتْ قُلُوبُهُمْ فَهُمْ فِي رَيْبِهِمْ يَتَرَدَّدُونَ
009.045 Only those ask thee for exemption who believes not in Allah and the Last Day, and whose hearts are in doubt, so that they are tossed in their doubts to and fro.
45. “แท้จริงที่จะขออนุมัติต่อเจ้านั้นคือบรรดาผู้ที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลกและหัวใจของพวกเขาสงสัยเท่านั้น (หมายถึงพวกมุนาฟิก) แล้วในการสงสัยของพวกเขานั้นเอง พวกเขาจึงลังเลใจ”
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การประกอบอามั้ลสำหรับพระองค์ นั้น สิ่งที่เป็นอันตรายต่อจุดมุ่งหมายปลายทางแห่งอามั้ลของเรานั่นคือ จิตใจของเราเพียงเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า เวลาที่เราละหมาดโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพระองค์ สนองตอบถึงความยำเกรงต่อพระองค์ แน่นอนว่า บางครั้งอาจพบว่า ผู้ที่ละหมาด เพียงต้องการที่จะแสดงออกให้คนอื่นๆ เห็น และเข้าใจว่าเขาเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มของบ่าวผู้ภักดีต่อพระองค์ เป็นการสร้างเจตนาที่เคลือบแฝงไปพร้อมๆ กันด้วยแล้ว อย่างนี้ เราอาจไม่ได้รับผลแห่งการกระทำตามที่เรามุ่งตรงต่อพระองค์ เช่นเดียวกัน การบริจาคซากาตแม้ว่าเราจะปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ แต่เราเกิดความหวงแหน ต้องการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางสังคม ให้คนทั่วๆ ไปมองว่า เราเป็นคนใจบุญ เรามีความเมตตา เราโอ้อวดให้คนทั่วๆ ไปแลเห็น รวมไปถึงการแสดงออกถึงความเสียดายในทรัพย์สินนั้น มองว่าอยากให้คนที่รับซากาตจากเราไปนั้น ให้ความสำคัญกับเรา อย่างนี้เป็นจุดบกพร่องของการแสดงออกถึงเจตนาที่จะให้ซากาตเพื่อให้กับเขาเหล่านั้น ไม่ใช่เจตนาอันแท้จริงของการบริจาคเพื่อสนองพระบัญชาใช้เพื่อพระองค์ด้วยความยำเกรง เช่นนี้ เราต้องมีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคงมุ่งตรงต่อพระองค์ ในการกระทำอามั้ลเพื่อพระองค์ อย่างแท้จริง ไม่มีเจตนาอื่นๆ ที่เคลือบแคลงแฝงเร้นไปพร้อมๆกับการกระทำของเรา ดังนั้น ขอให้เราทั้งหลายจงพึงสังวรในเรื่องนี้ ให้มากที่สุด
ท่านทั้งหลาย
การใช้ทรัพย์สินของเรา การแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ดังกล่าวนั้น เป็นดาบสองคมที่แทรกแซงจุดมุ่งหมายปลายทางของการทำอามั้ลเพื่อพระองค์ แม้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นความชอบธรรมสำหรับ หากแต่เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวนั้น เป็นพิกัดที่เราต้องตอบสนองพระองค์แล้ว แน่นอน เราต้องพิจารณามอบทรัพย์ที่ดีจากมวลบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวให้กับผู้ที่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว เป็นการให้เพื่อการให้อย่างแท้จริง มิใช่เป็นการให้เพื่อที่เราจะได้รับการสรรเสริญเยินยอจากคนทั่วๆ ไป แต่การสนองตอบต่อการใช้ทรัพย์สินนั้น สำหรับพระองค์แล้ว ความยำเกรงที่เกิดขึ้น เสมือนเป็นยานพาหนะที่จะนำพาเรากลับไปยังพระองค์ โดยที่เราไม่ต้องมุ่งหวังสิ่งตอบแทนใดๆ จากผู้ใดอีก แต่สิ่งนั้น บางครั้งมนุษย์อาจมองข้ามความสำคัญต่อการใช้จ่ายทรัพย์สินนั้นตามแนวทางความโปรดปราณปราณีจากพระองค์ ขอให้พิจารณาตัวบทฮาดีส ต่อไปนี้
I came to Allah's Apostle (peace be upon him) as he was reciting: "Abundance diverts you" (cii.1). He said: The son of Adam claims: My wealth, my wealth. And he (the Prophet) said: O, son of Adam, is there anything as your belonging except that which you consumed, which you utilised, or which you wore and then it was worn out or you gave as charity and sent it forward? Narrated by : Abdullah ash-Shikhkhir Source : Sahih Muslim 7061
จะเห็นได้ว่า ในการใช้จ่ายทรัพย์สินใดๆ ของเราแล้ว นอกจากเราจะได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าวนั้นแล้ว เราต้องมุ่งมั่นและใช้สอยทรัพย์สินนั้น ด้วยความระมัดระวัง อย่าสุลุ่ยสุร่าย ต้องรู้จักประหยัด เหลือเก็บออมบ้าง และหากว่าทรัพย์สินที่เราเก็บไว้นั้น ครบตามพิกัดตามกำหนดระยะเวลาแล้ว เราต้องให้ซากาตกับผู้ที่มีสิทธิ์ เพื่อสนองตอบพระประสงค์ของพระองค์ด้วยความยำเกรงโดยที่ไม่มีเจตนาอื่นใดเคลือบแคลงแฝงเร้น เพราะสิ่งนั้นอาจทำให้เกิดความบกพร่องต่ออามั้ลของเราสำหรับพระองค์ อย่างแน่นอน

إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا
رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ
إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ
سُبْحَانَ رَبِّكَ رَبِّ الْعِزَّةِ عَمَّا يَصِفُونَ
وَسَلامٌ عَلَى الْمُرْسَلِينَ
وَالْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ
ว่าบิ้ลลาฮิเตาฟีก วั้ลฮิดายะห์
วัสสลาม
มูฮำหมัด สันประเสริฐ

อ้างอิง
Text Copied from DivineIslam's Qur'an Viewer software v2.9
อัลกุรอ่านฉบับภาษาไทย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ดำเนินการจัดพิมพ์โดยกระทรวงกิจการฮัจย์ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาเบีย http://www.alquran-thai.com/
อัลฮาดีซ : Hadith of The Day V 1.0 Freeware by FaridAnasri avater@muslimonline.com www.beconvinced.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น