วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

โลกร้อนแต่อย่าให้ใจตนร้อนกว่า

มิมบัรออนไลน์
คุตบะห์วันศุกร์ 11 ร่อบีอุ้ลอาเคร 1431 (วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553)
โลกร้อนแต่อย่าให้ใจตนร้อนกว่า
الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ผู้ทรงอภิบาลโลกทั้งหลาย
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย
หากเราพิจารณาถึงสภาพอากาศรอบๆตัวเรา จะพบว่าบรรยากาศต่างๆ จะรุ่มร้อนไปเสียทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสภาพอากาศ ดังนั้น ขอให้พวกเราทุกคนในที่นี้ จงสุขุม อดทน และยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ให้มากๆ เพราะในแต่ละเรื่องที่เรากำลังประสบอยู่ในวันนี้ คือการทดสอบจากพระองค์ เป็นการทดสอบในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องของการทดสอบใหญ่ ๆ ที่จะตามมาในไม่ช้า การทดสอบของพระองค์ สะท้อนให้เห็นถึงความรักความปรารถนาดีต่อมวลมนุษย์ แม้ว่าบางคนจะถูกทดสอบในเรื่องหนักๆ แต่บางคนกลับถูกทดสอบในเรื่องเล็กน้อย นั่นเป็นข้อเตือนใจต่อบรรดาบุคคลทั้งหลายที่จะเหลียวหาความจริงในสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ขอเพียงให้เราทั้งหลายพึงสังวรว่า ไม่ว่าจะถูกทดสอบในเรื่องใด เราก็ไม่บกพร่องต่อหน้าที่และหลักการที่มีต่อพระองค์ อย่าให้สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มาลดทอนความแน่วแน่ต่อหลักการศรัทธาและข้อปฏิบัติที่เรามีต่อพระองค์
ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่า เมื่อโลกมีความเจริญทางวัตถุมากขึ้น มีประชากรโลกเกิดขึ้นเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่ปี หลักจากยุดปฏิบัติอุตสาหกรรม จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า หลายๆ ประเทศมีแนวนโยบายในการลดจำนวนการเพิ่มของประชากร แต่ก็มีบางประเทศกลับคิดในทางตรงกันข้าม เนื่องจากเกิดภาวะความตกใจกลัวว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านั้น จะมีคนในวัยชราสูงกว่าประชากรในวัยทำงาน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น จะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศนั้นซึ่งต้องเตรียมการรองรับภาวะตีบตันดังกล่าว ทั้งนี้หากพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆในการพัฒนาประเทศแล้ว แน่นอนว่าต้องมีการขยายเวลาช่วงวัยทำงานของแต่ละคนออกไปให้กว้างมากขึ้น ซึ่งอาจพบว่าประชากรในวัยทำงานอาจเริ่มตั้งแต่อายุ 18 ปี ไปจนกระทั่งถึงอายุ 70-80 ปี ก็เป็นได้ เพื่อชดเชยอัตราการเพิ่มของประชากรที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งหากเราจะพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตของประชากรโลกแล้ว จะพบว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อมีคนเกิดมากขึ้น และอัตราการตายลดลง การใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นกลับพบว่า มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น และมีวัสดุเหลือใช้ถูกทิ้งกลายเป็นขยะที่ถูกทำลายมากขึ้น และแนวโน้มการใช้ทรัพยากรมีจำนวนมากมาย ลักษณะเช่นนี้เป็นผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรอื่นๆ ตามมา เช่น การทำลายสภาพของป่าไม้ พืชที่ปกคลุมภูเขา สัตว์ป่า ตลอดจนความสวยงามตามธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นับวันยิ่งถูกใช้งานมากขึ้น และบอบช้ำจากการใช้งานของมนุษย์ จนมองดูว่าหากต้องใช้สภาพตามธรรมชาติแล้วต้องใช้เวลาในการบ่มฟักเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมในระยะเวลาที่ยาวนานมาก หรืออาจต้องปิดที่หนึ่งเพื่อไปใช้ในที่แห่งใหม่ หรือรุกคืบไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติในที่แห่งใหม่อีก นอกจากนี้ การใช้วัสดุต่างๆ เพื่อสนองความต้องการทั้งการบริโภคและอุปโภคทั้งหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมวลมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น เช่น การใช้พลาสติกในวัสดุต่างๆ ทั้งวัสดุเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน และการอุปโภคเพื่อรองรับความสะดวกสบายของมนุษย์ หากต้องการทำลายวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เราจะพบว่าการทำลายชิ้นวัสดุจำพวกพลาสติกนี้ จะเป็นการทำลายสภาพบรรยากาศที่ครอบคลุมโลกไปในตัว เป็นผลให้ แสงแดดที่ส่องมาจากดวงอาทิตย์ ที่ผ่านการกรองในชั้นบรรยากาศ นั้น ปรากฏว่าเมื่อชั้นบรรยากาศบางส่วนถูกทำลายไปด้วยฝีมือของมวลมนุษย์อาจจงใจกระทำหรือไม่จงใจกระทำก็ตาม แสงแดดที่ส่องลงมา แม้ว่าจะมีปริมาณเท่าเดิมแต่ความเข้มข้นมีมากขึ้น จึงเป็นผลให้โลกร้อนขึ้น จากโองการในซูเราะห์ อัลวากิอะฮ์ Al-Qur'an, 056.071-074 (Al-Waqia [The Event, The Inevitable]) ความว่า
056.071 أَفَرَأَيْتُمُ النَّارَ الَّتِي تُورُونَ
056.071 See ye the Fire which ye kindle?
[56.71] พวกเจ้าเห็นไฟที่พวกเจ้าจุดขึ้นมาแล้วมิใช่หรือ
056.072 أَأَنْتُمْ أَنْشَأْتُمْ شَجَرَتَهَا أَمْ نَحْنُ الْمُنْشِئُونَ
056.072 Is it ye who grow the tree which feeds the fire, or do We grow it?
[56.72] พวกเจ้าเป็นผู้ทำให้ต้นไม้ของมันงอกเงยขึ้นมา หรือว่าเราเป็นผู้ทำให้มันงอกขึ้นมา
056.073 نَحْنُ جَعَلْنَاهَا تَذْكِرَةً وَمَتَاعًا لِلْمُقْوِينَ
056.073 We have made it a memorial (of Our handiwork), and an article of comfort and convenience for the denizens of deserts.
[56.73] เราได้ทำให้มันมีขึ้นเพื่อเป็นการเตือนสติและอำนวยประโยชน์แก่ผู้เดินทางรอนแรม
056.074 فَسَبِّحْ بِاسْمِ رَبِّكَ الْعَظِيمِ
056.074 Then celebrate with praises the name of thy Lord, the Supreme!
[56.74] ดังนั้น เจ้าจงสดุดีด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่เถิด
ดังนั้น ความร้อนในสภาพบรรยากาศรอบๆ ตัวเรา จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เตือนสติและเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับพวกเรา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น มีต้นเหตุมาจากการกระทำของมวลมนุษย์ทั้งหลายนั่นเอง หาใช่เป็นการกระทำจากสิ่งอื่นใดไม่ ภาวะโลกร้อนจึงเป็นสิ่งที่มวลมนุษย์จะต้องได้สัมผัสตลอดไป และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จะสังเกตได้อย่างง่ายๆ ว่า การที่โลกหมุนรอบตัวเอง และแกนของโลกจะเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ นั้น ฤดูกาลที่เกิดขึ้นจะสะท้อนสภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน ลักษณะเช่นนี้ หากเราติดตามสภาพความเปลี่ยนแปลง มีการจัดเก็บสถิติของอุณหภูมิที่เกิดขึ้น ในแต่ละปีนั้น โลกจะร้อนขึ้นทุกๆ 1 องศา ในรอบทศวรรษ เมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบัน เกิดความแปรปรวนทางสภาพบรรยากาศ มีคาบเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม คือ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1 องศา ทุกๆ 10 ปี นั่นเป็นข้อเตือนใจพวกเราว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้ บางคนจะมีข้อสันนิษฐาน ว่า น้ำแข็งที่ขั้วโลกจะละลายและจะเกิดภาวะต่างๆ นั่นเป็นเพียงสมมุติฐาน ทั้งนี้ เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย
สภาพความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้น นั้น เป็นอุทธาหรณ์สำหรับพวกเราที่จะตรวจสอบเราในเรื่องต่างๆ ทั้งทรัพย์สิน ลูกหลาน เกียรติยศ และความภาคภูมิใจ ของหลายๆ คน การเรียกร้องเพื่อให้ได้มาในเรื่องต่างๆ นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น สภาพทางจิตใจของแต่ละคน จะมีมุมมองในเรื่องการแข่งขัน ในเรื่องต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความอยู่รอดและการมีอยู่ในสังคมตามสภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในปัจจุบัน เรื่องต่างๆ สามารถนำมาสู่ความขัดแย้ง แย่งชิงกันในทุกๆ สภาพ ในสังคม หรือแม้แต่ในครอบครัว ความหวาดวิตกในเรื่องต่างๆ นำมาสู่สภาพทางจิตใจของแต่ละคน อาจกล่าวได้ว่า ในสภาพบรรยากาศที่ร้อนรุ่มในปัจจุบัน สภาพทางจิตใจของคนก็จะร้อนรุ่มไม่แตกต่างกัน สิ่งที่น่ากลัวและโหดร้ายกว่าความร้อนแรงของสภาพอากาศ นั่นคือ สภาพจิตใจของคนนั่น เอง มีคำพูดในวงการทหารที่บอกว่า “แม้ในปัจจุบันมีการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ มากมายตามเทคโนโลยีอันทันสมัย แต่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถสร้างจิตวิญญาณของความเป็นนักรบของเหล่าทหารกล้าได้เลย” นั้น เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า ในจิตใจของมนุษย์ หากจิตใจมีความสวยงาม มีความเยือกเย็นแล้ว สังคมจะเป็นสุข แต่ถ้าจิตใจที่รุ่มร้อน ถูกเผาพลาญด้วยมายาแล้ว ความร้อนดังกล่าวนั้น จะบดบังสภาพความเป็นอยู่ ที่ดีของมวลมนุษย์ จิตใจอันร้อนลุ่ม ย่อมไม่ยอมรับเหตุและผลที่แท้จริง เป็นเหตุและผลที่ทุกๆ ฝ่ายต่างยอมรับซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์ที่ล้อมรอบตัวเรา จะเป็นเช่นใด หากแต่เราใช้สติฉุกคิดเพียงสักนิดว่า มีเหตุและผลอย่างไร เราใช้ความคิดของเรา เพื่อสร้างความรักในเพื่อนมนุษย์มากน้อยเพียงใด นั้น จะทำให้สังคมมีความน่าอยู่มากขึ้น จากอัลฮาดีซ รายงานโดยบุคอรี ความว่า
“การศรัทธาของคนๆหนึ่งจะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าเขาจะรักพี่น้อง(มุสลิม)ของเขา เช่นเดียวกับที่เขารักตัวของเขาเอง” (บันทึกโดย บุคอรี-มุสลิม)

ดังนั้น ขอให้เรามองโลกอย่างมีสติ มองอย่างมีความรักให้กันและกัน เพราะหากเราไม่รักกันแล้ว เราไม่ใช้สติ ในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้ผลลัพท์ที่เราไม่ต้องการเกิดขึ้นได้ แต่หากเรารู้จักที่จะรักกัน ให้อภัยต่อกัน มองเพื่อนมนุษย์ในลักษณะที่คิดถึงผลลัพท์ในการที่เราจะอยู่ร่วมกันแล้ว ความร้อนของสภาพอากาศรอบตัวเรา มันจะถูกเผาผลาญด้วยความเย็นในจิตใจ และมุ่งมั่นถึงความยำเกรงต่อพระองค์ แล้วสังคมรอบตัวเราจะสงบสุขในไม่ช้า

إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا
رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ
إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ

سُبْحَانَ رَبِّكَ رَبِّ الْعِزَّةِ عَمَّا يَصِفُونَ
وَسَلامٌ عَلَى الْمُرْسَلِينَ
وَالْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ

ว่าบิ้ลลาฮิเตาฟีก วั้ลฮิดายะห์
วัสสลาม
มูฮำหมัด สันประเสริฐ

อ้างอิง
Text Copied from DivineIslam's Qur'an Viewer software v2.9
อัลกุรอ่านฉบับภาษาไทย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ดำเนินการจัดพิมพ์โดยกระทรวงกิจการฮัจย์ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาเบีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น