วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

มุสลิมกำลังถูกปิดล้อมหรือมีใครมาปิดล้อมมุสลิม

มิมบัรออนไลน์


คุตบะห์วันศุกร์ 12 ญะมะดิ้ลเอาวัล 1432 (วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.. 2554)


มุสลิมกำลังถูกปิดล้อมหรือมีใครมาปิดล้อมมุสลิม



الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ


إِنَّمَا يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللَّهِ مَنْ آمَنَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَأَقَامَ الصَّلاةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَلَمْ يَخْشَ إِلا اللَّهَ فَعَسَى أُولَئِكَ أَنْ يَكُونُوا مِنَ الْمُهْتَدِينَ


وَاللَّهُ خَلَقَكُمْ ثُمَّ يَتَوَفَّاكُمْ وَمِنْكُمْ مَنْ يُرَدُّ إِلَى أَرْذَلِ الْعُمُرِ لِكَيْ لا يَعْلَمَ بَعْدَ عِلْمٍ شَيْئًا إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ قَدِيرٌ


وَاللَّهُ فَضَّلَ بَعْضَكُمْ عَلَى بَعْضٍ فِي الرِّزْقِ فَمَا الَّذِينَ فُضِّلُوا بِرَادِّي رِزْقِهِمْ عَلَى مَا مَلَكَتْ أَيْمَانُهُمْ فَهُمْ فِيهِ سَوَاءٌ أَفَبِنِعْمَةِ اللَّهِ يَجْحَدُونَ


ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย


ขอย้ำเตือนตนเองและท่านทั้งหลายในที่นี้ จงมั่นคงในแนวทางอันเที่ยงตรงมั่นคงในธรรมวิถีปฏิบัติแห่งอิสลาม มีความยำเกรงในพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ให้มากๆ และขอให้ทุกๆ ท่านจงเร่งรีบขวนขวายปฏิบัติตนให้อยู่ในร่องรอยและความดีงามตามแบบฉบับของท่านศาสดา


ท่านทั้งหลาย


สังคมของบ้านเมืองของเราในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้เราไม่สามารถตรวจสอบตนเองได้เลยว่า ในระหว่างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราวางตำแหน่งหรือบทบาทของตนไว้อย่างไร การดำเนินชีวิตของคนในครอบครัวของเรานั้น ดำรงตนไว้อย่างมั่นคงในแนวทางปฏิบัติตามหลักอะกีดะห์ของมุสลิมหรือไม่ เช่นกันในสังคมชุมชนของเรา หรือในชุมชนมัสยิดบ้านเรา นั้น เราอาศัยอยู่ร่วมกันในแบบฉบับแห่งสังคมมุสลิมหรือไม่ หรือว่าเราอยู่ร่วมกันในแบบสังคมคนเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ หรือบ้านใครบ้านมัน ไม่สนใจกัน ไม่มีการร่วมวงเสวนากัน ไม่มีบรรยากาศแห่งการปรึกษาหารือกัน บางทีบ้านเรือนที่เรียงรายกันอยู่ในชุมชนก็ไม่เคยที่จะพบปะ ทักทาย หรือพูดคุยกันในแบบอย่างของมวลมุสลิม ตรงกันข้าม กลับพบว่าพวกเราไม่เคยแสดงออกถึงน้ำใจไมตรีต่อกันและกันดุจดังแบบอย่างหรือแบบฉบับของท่านศาสดา ด้วยข้อจำกัดแห่งระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน การดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อที่จะเอาชนะต่อแรงบีบของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม หลายๆ ครอบครัวต่างมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเสริมสร้างครอบครัวด้วยปัจจัยยังชีพ และทุนรอนที่เป็นเสบียงรองรังไว้ใช้ในครัวเรือน บางครอบครัวปลดเปลื้องสภาพแรงบีบรัดดังกล่าว ด้วยการขายที่ดิน ซึ่งเป็นสมบัติหรือมรดกที่คนรุ่นเก่าให้มา เพื่อที่จะประคับประคองชีพ หรือบางคนทำกิจการให้เช่าบ้านพักหรือคอนโดมิเนียมหรูหรา เพื่อเป็นปัจจัยยังชีพ จะเห็นได้ว่า เพียงระยะเวลาไม่นานนัก สังคมรอบๆ บ้านเรา ซึ่งเดิมเคยเป็นชุมชนมุสลิมที่เข้มแข็ง มีการดำเนินชีวิตร่วมกันตามวิถีแห่งอิสลาม ในวันสำคัญทางศาสนา เช่นในวันศุกร์ หรือในวันอีด รวมถึงการดำเนินกิจกรรมทั้งหลายทั้งการเรียนการสอนอัลกุรอ่าน หรือแม้แต่ในยามค่ำคืนแห่งเดือนรอมฎอน มันค่อยๆ เลือนหายไป หรือมีแน่คนที่มาร่วมกิจกรรมเริ่มห่างหายไปจากชุมชน พร้อมๆ ไปกับสังคม สิ่งแวดล้อมใหม่ที่เข้ามาแทนที่ เราเริ่มมีเพื่อนบ้านต่างศาสนิกเข้ามาร่วมอยู่อาศัยในสังคมของเรา เราเริ่มีสิ่งแวดล้อมที่แปลกแยกแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องที่ดี หรือเรื่องที่ไม่ดี ทั้งหมดนี้ ก็ด้วยความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลสืบเนื่องที่หลายๆ ภาคส่วน ต่างประสบและยอมรับมัน


ท่านทั้งหลาย


ชุมชนมุสลิมกำลังถูกปิดล้อม สังคมวัฒนธรรม ในปัจจุบันกำลังจะถูกกลืนกินด้วยความหลากหลายในเชิงชาติพันธ์ การควบรวมทางชาติพันธ์ในหลายๆ พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ภายใต้สังคมชุมชนโลกไร้พรมแดนที่มาพร้อมไปกับการสื่อสาร จะเห็นได้ว่า ชุมชนมุสลิมหลายๆ แห่ง อ่อนแอลง จำนวนเด็กเล็กๆ ของเราต่างได้รับการเอาใจใส่และเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นที่แปลกแยกแตกต่างไปจากวัฒนธรรมมุสลิม กระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต่างหล่อหลอมให้เด็กเหล่านั้นทั้งเด็กชายและเด็กหญิง ต่างดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชนะและก้าวผ่านเพื่อที่จะข้ามไปยังสังคมอื่นๆ โดยที่เขาเหล่านั้นต่างหลงใหลไปกับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง โดยไม่หลงเหลือสิ่งที่เป็นรากฐานและรากเหง้าของสังคมชุมชนมุสลิม หรือมีแต่มันเปราะบางจนเกินไป พร้อมที่จะได้รับความเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยและทันกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นี่คือความอ่อนแอของสังคม ความอ่อนดังกล่าวเป็นผลให้อดีตที่เรามองเห็นกันอยู่กลับแปรเปลี่ยนไปเป็นความแปลกใหม่ของชุมชน หลายๆ คนต่างมุ่งมั่นที่จะเอาชนะและได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบในเรื่องราวต่างๆ แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่แต่ละคนจะได้รับ นั่นคือ ความอ่อนแอของชุมชน แม้เราจะมีมัสยิดที่สวยงามใหญ่โตสูงตระหง่านในชุมชน แต่รอบๆ ชุมชน มีมุสลิมอยู่รายล้อมไม่มากนัก เราอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย แต่คนที่เข้ามาอยู่ร่วมด้วยในชุมชนมีความหลากหลายในเชิงชาติพันธ์ เป็นชนต่างศาสนิกที่ไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมแห่งอิสลาม ความไม่เข้าใจเหล่านี้เอง คือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในชุมชนที่นับวันเราทั้งหลายต่างถูกปิดล้อม ขอให้พิจารณาโองการจากอัลกุรอ่าน ซูเราะห์ Al-Qur'an, 009.018 (At-Tawba [Repentance, Dispensation]) ความว่า


009.018 إِنَّمَا يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللَّهِ مَنْ آمَنَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَأَقَامَ الصَّلاةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَلَمْ يَخْشَ إِلا اللَّهَ فَعَسَى أُولَئِكَ أَنْ يَكُونُوا مِنَ الْمُهْتَدِينَ


009.018 The mosques of Allah shall be visited and maintained by such as believe in Allah and the Last Day, establish regular prayers, and practise regular charity, and fear none (at all) except Allah. It is they who are expected to be on true guidance.


18. “แท้จริงที่จะบูรณะบรรดามัศยิดของอัลลอฮ์นั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลก และได้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และชำระซะกาต และเขามิได้ยำเกรงนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น ดังนั้นจึงหวังได้ว่า ชนเหล่านี้แหละจะเป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้รับคำแนะนำ


ท่านทั้งหลาย


จะเห็นว่า มัสยิดในชุมชนของเราเป็นแหล่งที่เราทั้งหลายมุ่งมั่นที่จะมากระทำอิบาดัร มัสยิดเป็นที่รวมตัวกันที่เราทั้งหลายจะได้เคารพอิบาดัรต่อพระองค์ มัสยิดเป็นศูนย์รวมจิตใจของมุสลิมในชุมชน แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงรอบมัสยิดทำให้สิ่งแวดล้อมรอบๆ มัสยิดนั้น ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป แต่หน้าที่ของมัสยิดไม่ได้ถูกทำให้เปลี่ยนแปลง ตรงกันข้าม มัสยิดเป็นศูนย์รวมของศาสนชนที่จะมาร่วมกันในมัสยิด หากเราจะมองความยิ่งใหญ่ของของเดินทางไปมัสยิด จะเห็นภาพที่ชัดเจนของบรรดาหุจญาตที่กำลังเดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์ ต่างรวมตัวกันเดินทางไปละหมาดในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละวัน ความเหนียวแน่นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเอาใจใส่ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมโดยรวม ซึ่งแตกต่างจากการทำหน้าที่ศาสนิกชนในสังคมบ้านเรา ที่แต่ละมัสยิดมีเสียงอะซานที่ดังกึกก้องไปทั่วตามรัศมีที่มีชุมชนมุสลิมอาศัยอยู่ กลับเรียกร้องเชิญชวนให้คนเดินทางมาละหมาดที่มัสยิดเพียงไม่กี่คน และหนึ่งในนั้น คือคนเดินทางที่ผ่านมัสยิดและแวะเวียนมาละหมาด เพื่อไม่ให้ตนต้องเป้นผู้ที่พลาดโอกาสในการละหมาดญะมาอะห์ในช่วงเวลานั้น มีคำพูดที่เปรียบเทียบและกระทบจิตใจที่ฟังดูแล้วรู้สึกเศร้าใจมากนั่นคือ มัสยิดมีมูลค่าในการสร้างสูงมาก ใช้เวลาในการสร้างและการระดมทุนสรรพกำลังปัจจัยต่างๆ มากมาย แต่เมื่อถึงเวลาละหมาดในแต่ละช่วงเวลา มีคนเพียงไม่ถึง 10 คน 20 คน เข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากวันอีดทั้งสอง ที่กรรมการมัสยิดต่างปรึกษาหารือกันเพื่อที่จะขยายมัสยิดรองรับฝูงชนที่มาทำอิบาดัรในวันดังกล่าวนั้น


ท่านทั้งหลาย


ความอ่อนแอของชุมชนมัสยิดแต่ละแห่ง หาใช่ว่าเป็นหน้าที่ของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากเป็นทุกๆ คนในชุมชนนั้นต่างห่างที่อ่อนแอ หลงใหลไปตามกระแส ไม่เรียกร้องแนวปฏิบัติและแบบฉบับของอิสลามเพื่อทนุบำรุงรักษาภาพพจน์และอัตลักษณ์แห่งชุมชนมุสลิม ความเข้มแข็งที่หายไป กลับถูกทดแทนด้วยแบบอย่างที่ถูกผสมผสานด้วยร่องรอยวัฒนธรรมอื่น ที่แปลกแตกต่างไปจากภาพลักษณ์ที่ดีงามในอดีต มัสยิดที่ถูกสร้างเพื่อแสดงออกถึงความยำเกรง กลับมีร่องรอยแห่งความโอ้อวดและแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของในรูปแบบของทรัพย์สิทธิและทรัพย์สินของครอบครัวหรือของคณะกรรมการ แต่เราไม่แสดงออกร่วมกันที่จะรักษาอัตลักษณ์ในความเป็นชุมชนมุสลิมของเรา แม้ว่าพันธสัญญาที่เรามีกับพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ในการรักษาแบบฉบับแห่งมวลมุสลิมที่จะรักษาแนวทางแห่งอิสลามไว้นั้น ดังที่ปรากฏในซูเราะห์ Al-Qur'an, 016.070-071 (An-Nahl [The Bee]) ความว่า


016.070 وَاللَّهُ خَلَقَكُمْ ثُمَّ يَتَوَفَّاكُمْ وَمِنْكُمْ مَنْ يُرَدُّ إِلَى أَرْذَلِ الْعُمُرِ لِكَيْ لا يَعْلَمَ بَعْدَ عِلْمٍ شَيْئًا إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ قَدِيرٌ


016.070 It is Allah who creates you and takes your souls at death; and of you there are some who are sent back to a feeble age, so that they know nothing after having known (much): for Allah is All-Knowing, All-Powerful.


70. และอัลลอฮ์ทรงบังเกิดพวกเจ้า แล้วทรงให้พวกเจ้าตาย และบางคนในหมู่พวกเจ้ามีผู้ถูกนำกลับไปยังวัยต่ำสุดของชีวิต(*คือวัยชราและความหลงเลอะเลือน) เพื่อมิให้เขา รู้อะไรหลังจากที่เคยมีความรู้ (เพื่อให้ลืมสิ่งที่เขารู้ ซึ่งเขาจะมีสภาพคล้ายกับเด็กคือด้อยทั้งกำลังวังชาและสติปัญญา) แม้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงอานุภาพ


016.071 وَاللَّهُ فَضَّلَ بَعْضَكُمْ عَلَى بَعْضٍ فِي الرِّزْقِ فَمَا الَّذِينَ فُضِّلُوا بِرَادِّي رِزْقِهِمْ عَلَى مَا مَلَكَتْ أَيْمَانُهُمْ فَهُمْ فِيهِ سَوَاءٌ أَفَبِنِعْمَةِ اللَّهِ يَجْحَدُونَ


016.071 Allah has bestowed His gifts of sustenance more freely on some of you than on others: those more favoured are not going to throw back their gifts to those whom their right hands possess, so as to be equal in that respect. Will they then deny the favours of Allah?


71. และอัลลอฮ์ทรงให้บางคนในหมู่พวกเจ้า ดีเด่นกว่าอีกบางคนในเรื่องปัจจัยยังชีพ (คือให้มีฐานะแตกต่างไป คนนี้รวย คนนี้จน คนนี้เป็นผู้ครอบครอง คนนั้นถูกครอบครอง) แล้วทำไมบรรดาผู้ที่ได้รับความดีเด่น จึงไม่แบ่งปัจจัยยังชีพของพวกเขา แก่บรรดาผู้ ที่มือขวาของพวกเขาครอบครอง เพื่อพวกเขาจะได้เท่าเทียมกัน ในเรื่องนั้น(อิบนุอับบาสกล่าวว่า พวกเขามิได้ให้ข้าทาสและพวกผู้หญิงขงพวกเขา มีส่วนร่วมในทรัพย์สมบัติ) ดังนั้น ต่อความโปรดปรานของอัลลอฮ์พวกเขาอกตัญญูกระนั้นหรือ?


ท่านทั้งหลาย


ชีวิตของมนุษย์ นั้นไม่ยาวนาน เรามีระยะเวลาอันจำกัดที่จะปฏิบัติศาสนกิจและดำเนินชีวิตรวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับตนในชุมชนในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่เราทั้งหลายจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน นั่นคือ การกระทำให้การปฏิบัติศาสนกิจในชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่ทุกๆ คน รับผิดชอบร่วมกัน ประพฤติ ปฏิบัติในแบบอย่างของมุสลิมที่ดิ ในแนวทางอันเที่ยงตรงและเป็นแนวทางที่พระองค์ทรงตอบรับ ในขณะเดียวกัน เราทั้งหลายต้องร่วมมือร่วมใจกันรักษาชุมชนของเราด้วยการปรึกษาหารือร่วมกัน รักษาภาพลักษณ์แห่งความเป็นศาสนิกที่ดี แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นการทดสอบอิหม่านในจิตใจของคนเรา แต่นั่นเป็นสิ่งที่เป้นพันธสัญญาของพระองค์ที่มีต่อผู้ที่รักษาแนวทางของพระองค์ ในวันนี้ ฐานะทางเศรษฐกิจของมวลมุสลิมอาจดูว่าเราจะต่ำต้อยด้อยค่าหากเปรียบเทียบกับชนต่างศาสนิก บางครั้ง อาจทำให้คนที่ไม่อดทนรักความสุขสบายหลงใหลไปกับกระแสวัฒนธรรมที่กลมกลืนกัน ใช้ชีวิตร่วมกันในแนวทางที่สอดรับกันในที่สุด ลูกหลานของเราทั้งชายและหญิงต่างมีคูครองเป็นชนต่างศาสนิก แม้ว่าเขาและเธอเหล่านั้นต่างน้อมยอมรับเข้ามาเป็นมุสลิมแต่วิถีในการดำเนินชีวิตเขาเหล่านั้นกลับไม่เรียนรู้ มิหนำซ้ำ ลูกหลานของเราก็ไม่ใส่ใจไม่รักษาอิหม่านไม่เข้มแข็งในวัตรปฏิบัติของมุสลิม จนในที่สุดการที่เราถูกปิดล้อมทางบ้านเรือนกลับกลายเป็นในวันนี้ เราทั้งหลายถูกปิดล้อมถึงในบ้าน ในครัวและในห้องนอน ในที่สุดแล้ว นอกจากในมัสยิดจะหลงเหลือคนปฏิบัติอิบาดัรไม่กี่คน แล้ว ในบ้านของเราเองก็จะแยกไม่ออกเช่นกันว่าแตกต่างจากบ้านต่างศาสนิกอย่างไร เพราะแยกกันไม่ออก บ้านที่อยู่ใกล้กัน ในที่สุดก็เป็นพวกเดียวกันไป แล้ววัฒนธรรมของเราและเขาก็ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลใดๆ เช่นนี้


ท่านทั้งหลาย


วันนี้เราจึงควรเน้นย้ำตรวจสอบและรักษาอะมานะห์ ในความเป็นมุสลิมและรักษาแนวทางอันเที่ยงตรงในความเป็นมุสลิมไว้อย่างหนักแน่น แม้ในปัจจุบันเราจะถูกตรวจสอบในทุกรูปแบบทั้งเรื่องราวทีเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องราวที่มีความสูญเสียอันยิ่งใหญ่กระทบกับคนจำนวนมากมายก็ตาม วันนี้ เราจึงควรหันหาเข้าหากัน ปรึกษาหารือกันปรับทุกข์บำรุงสุขร่วมกัน หาใช่ว่า การปรึกษาหารือกันนั้นจะใช่ว่าเป็นการใส่ร้ายป่ายสีนินทาว่าร้ายระหว่างกัน หากแต่การปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งศาสนกิจแห่งอิสลาม ในชุมชน การปรึกษาร่วมมือร่วมแรงใจระหว่างกัน จึงควรเน้นย้ำถึงสิ่งที่เหมาะสมและรักษามิตรภาพในอิสลาม มากกว่าการที่จะมาประณามระหว่างกัน ซึ่งแนวทางอิสลามที่เที่ยงตรงนั้น สอนให้เรารักและสามัคคีกันเพื่อความสันติสุข หาใช่เป็นเรื่องราวที่เราจะมาทะเลาะกัน หรือออกห่างไกลกัน นั่นคือวิถีแห่งความอ่อนแอ และในที่สุดเราก็พ่ายแพ้และไม่สามารถรักษาชุมชนของเราไว้ได้ สุดท้ายขอให้เราทั้งหลายจงตระหนักและเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันและรักษาคำพูดของเราไว้อย่างหนักแน่น จากอัลฮาดีส จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า:


"ใครก็ตามที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลก ดังนั้นเขาก็จงพูดแต่ในเรื่องที่ดี หรือไม่ก็นิ่งเงียบเสีย"


หะดีษบันทึกโดยมุสลิม, หมายเลข: 182. จาก http://www.alhadeeth.net/ ซึ่งเราทั้งหลายจงแน่วแน่และรักษาชุมชนของเราให้เข้มแข็งในแนวทางแห่งอิสลามร่วมกัน


إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا


رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ


إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ


سُبْحَانَ رَبِّكَ رَبِّ الْعِزَّةِ عَمَّا يَصِفُونَ


وَسَلامٌ عَلَى الْمُرْسَلِينَ


وَالْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ


ว่าบิ้ลลาฮิเตาฟีก วั้ลฮิดายะห์


วัสสลาม


มูฮำหมัด สันประเสริฐ


อ้างอิง


อัลกุรอ่านฉบับภาษาไทย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ดำเนินการจัดพิมพ์โดยกระทรวงกิจการฮัจย์ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาเบีย http://www.alquran-thai.com/ShowSurah.asp , www.DivineIslam.com


อัลฮาดีซ : Hadith of The Day V 1.0 Freeware by FaridAnasri avater@muslimonline.com www.beconvinced.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น