วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

มูลค่าของสินทรัพย์

มิมบัรออนไลน์
คุตบะห์วันศุกร์ 23 ร่อบีอุ้ลอาเคร 1433 (วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2555)

มูลค่าของสินทรัพย์

الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ
لَنْ تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّى تُنْفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ وَمَا تُنْفِقُوا مِنْ شَيْءٍ فَإِنَّ اللَّهَ بِهِ عَلِيمٌ

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย
หากเราจะพิจารณาถึงมูลค่า หรือคุณค่า
ในตัวมนุษย์ด้วยกันนั้น เราใช้หลักเกณฑ์ใดเป็นตัวพิจารณา ในแต่ละมุมมอง จะพิจารณาถึงตัวกำหนดที่หลากหลาย
เป็นไปตามประสบการณ์ของแต่ละท่านที่จะบ่งบอกถึงมูลค่าของเขาเหล่านั้น
แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมพิจารณากัน นั่นคือ ผลงานของเขา
ผลการปฏิบัติงานของเขาทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ กระนั้นก็ตาม
ผลงานในเชิงคุณธรรมและจริยธรรม ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งถึงคุณค่าในตัวบุคคลได้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งผลงานในเชิงคุณธรรมและจริยธรรมจะเกี่ยวพันกับผลการปฏิบัติงานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ
ซึ่งอนุมานได้ว่า คุณค่าในตัวบุคคล และการวัดผลงานในตัวบุคคลนั้น สามารถตีค่าหรือประเมินค่าออกมาเป็นตัววัด
ที่หลายๆ ภาคส่วนนิยมใช้เป็นข้อกำหนดในการประเมินผล แต่กระนั้นก็ตาม
ตัววัดของมนุษย์มักจะเอนเอียงไปบ้างตามโลกทัศน์ของผู้ประเมิน
ซึ่งหาใช่เป็นความยุติธรรมที่ควรจะได้รับ
หากแต่แฝงเร้นไปด้วยคติส่วนตัวและค่านิยมส่วนตัวของมนุษย์และมาตรฐานรวมถึงมาตรการที่ใช้ในการประเมินสิ่งเหล่านั้น
จึงขอเตือนตนเองและท่านทั้งหลาย ณ ที่นี้
จงพิจารณาถึงมูลค่าของตัวตน มูลค่าของตัวเรา เป็นมูลค่าที่ต้องถูกสอบสวนในทุกๆ
ด้าน ตามมาตรฐานที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงกำหนด เป็นมาตรฐานเดียวที่จะบ่งบอกได้ว่า
เราหรือเขาคนนั้น จะได้รับความเมตตาจากพระองค์มากน้อยเพียงใดในวันแห่งการตัดสิน
แน่นอนว่า หลายๆ คน ยังมองข้ามความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องราวเหล่านี้
เป็นเรื่องใหญ่ยิ่งสำหรับพระองค์ วันนี้การปฏิบัติตนของเราอยู่ในกรอบ กติกา
และมารยาท ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้หรือไม่ ทั้งในเรื่องที่พระองค์ทรงใช้ให้กระทำ
เรื่องที่พระองค์ทรงห้ามการกระทำเหล่านั้น อีกทั้งการล่วงละเมิดผู้อื่น
ทั้งในทางกาย วาจา รวมถึงจิตใจ นั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ยังมีอยู่หรือไม่ ดังนั้น
วันนี้มนุษย์สามารถตีค่าหรือประเมินตนเองได้ เพียงตามประสบการณ์ที่เขาพบมา หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้สัมผัส
เพื่อตอบสนองเพียงว่า มนุษย์นั้นตีค่าหรือประเมินค่า
เพียงเท่าที่เขารับรู้เท่านั้น
ในส่วนที่เขาไม่มีความสามารถในการรับรู้เรื่องราวเหล่านั้น
เขาไม่สามารถตีค่าหรือประเมินค่าในเรื่องราวเหล่านั้น ได้เลย
ท่านทั้งหลาย
มูลค่าในรูปตัวเงิน ทรัพย์สิน
หรือสินทรัพย์ต่างๆ ที่มนุษย์ถือครองอยู่นั้น ตีค่าหรือประเมินค่าได้อย่างไร
หากพิจารณามูลค่าของ “เงิน” ที่เราทั้งหลายถือครองอยู่นั้น มีมูลค่าอย่างไร หลายๆ
คนกังวลว่า “มูลค่า” ของมันนั้น ใช้สิ่งใดเป็นมาตรฐานในการกำหนด
หากพิจารณาในเชิงเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว จะเห็นว่า เงินทั้งหลายนั้น ค่าของมัน
อยู่ที่การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มูลค่าของมันสามารถขึ้นลงได้ตามอัตราแลกเปลี่ยน
และจากการประเมินค่าของสถาบันมาตรฐานทางการเงิน ที่พิจารณาถึง “ทุนรักษาระดับเงินตรา”
และมาตรฐานทองคำของประเทศเหล่านั้น อีกทั้งพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือหรือเครดิตของประเทศ
เป็นค่าที่ใช้ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ทั้งนี้
มีตัวแปรหลายๆ ตัวที่ใช้ในการกำหนด “มูลค่า” ของมัน ไม่ว่าจะเป็น อัตราเงินเฟ้อ
อัตราดอกเบี้ย อัตราการว่างงาน รายได้ประชาชาติ และผลผลิตมวลรวมของประเทศ
และสิ่งหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย นั่นคือ ช่วงเวลา “ยุค”หรือ ระยะเวลาที่ใช้พิจารณามูลค่าของมัน
ในส่วนของภาคประชาชน เราสังเกตถึงมูลค่าของเงินนั้น
โดยการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน เมื่อใดก็ตามที่สินค้าและบริการมีอัตราสูงขึ้น
แน่นอนว่า มุลค่าของเงินที่เราถืออยู่ในมือจะมีค่าลดลงหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านี้
แต่ในบางสินค้า มูลค่าของวันจะเคลื่อนไหวไปตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ
ฤดูกาลของสินค้า
รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งอุปสงค์และอุปทานในสินค้าเหล่านั้น
ท่านทั้งหลาย
“เงิน”
ที่เราถืออยู่ในมือของเรา เราสามารถล่วงรู้ถึงคุณค่าของมันก็ต่อเมื่อเราได้ใช้สอยมัน
หรือทำให้มันเกิดการหมุนเวียนในทางเศรฐกิจ แต่ทั้งนี้ เราต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ
ด้วย เป็นต้นว่า คนที่ถือ “เงิน” เหล่านั้น เป็นใคร และความพึงพอใจใน “เงิน”
เหล่านั้นด้วย ตลอดจน ความพึงพอใจในการใช้ “เงิน” เหล่านั้นแล้ว เขาแสดงออกอย่างไร
เมื่อเขาได้นำ “เงิน” เหล่านั้น ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จะเห็นว่า “เงิน”
ก้อนหนึ่งในมือของผู้มีอันจะกิน กับ “เงิน” ที่มี “มูลค่า”
เดียวกันในมือของผู้ยากไร้ คุณค่าของมันช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เงินในมือของผู้มีอันจะกิน อาจถูกใช้ไปได้โดยง่ายไม่มีความรู้สึกถึงความเสียดาย
เพราะเมื่อหมดไป เขาก็สามารถนำเงินที่ได้จากแหล่งอื่นๆ
เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันของเขาโดยไม่รู้สึกว่าเงินเหล่านั้น จะหมดไป
เพราะเขามีความสามารถที่จะนำเงินเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ผิดกับเงินในมือของผู้ยากไร้
ดูเหมือนว่าทุกบาททุกสตางค์ของมัน ที่จะหยิบมาใช้สอย ต้องคิดหน้าคิดหลัง ว่า เมื่อใช้เงินเหล่านั้นไปแล้ว
เขาจะเหลือเงินอีกเท่าไร ที่จะจัดหาสินค้าและอาหารในการประดังชีวิตของเขาและครอบครัวในวันต่อไป
ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเพียงพอ
และต่อยอดความพึงพอใจในการดำรงชีพของเขาได้อย่างต่อเนื่อง ท่านศาสดา (ซ.ล.) จึงได้สร้างแบบฉบับในการแบ่งปันและการเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันในสังคมมุสลิม
เป็นการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกันในชุมชน ที่ทุกๆ ภาคส่วนนั้น
ต้องเหลียวแลคนที่ด้วยกว่า เพื่อที่จะทำให้สังคมดำเนินไปอย่างเหมาะสม เพียงพอ
การสร้างภราดรภาพระหว่าง “ผู้ให้” กับ “ผู้รับ” จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของสังคม
เพื่อที่จะแบ่งปันความสุข
มากกว่าการแข่งขันกันสะสมทรัพย์สินและสินทรัพย์ในปริมาณที่เพิ่มพูนสูงขึ้น
ในขณะที่สังคมโดยรวมถูกมองข้าม หรือละเลย
ละทิ้งให้เขาเหล่านั้นต้องมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำเตี้ย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งในสังคมอยู่ในภาวะแห่งการแข่งขันและทะยานก้าวไปไต่ระดับความสูงขึ้นทุกๆ
วัน ขอให้พิจารณาโองการจากซูเราะห์ อาลิอิมรอน Al-Qur'an,
003.092 (Aal-E-Imran [The Family of Imran]) ความว่า
003.092 لَنْ تَنَالُوا الْبِرَّ حَتَّى تُنْفِقُوا مِمَّا تُحِبُّونَ وَمَا تُنْفِقُوا مِنْ شَيْءٍ فَإِنَّ اللَّهَ بِهِ عَلِيمٌ
003.092 By no means shall ye attain righteousness unless ye give
(freely) of that which ye love; and whatever ye give, of a truth Allah knoweth
it well.
92. พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ
และสิ่งใดที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริงอัลลอฮฺทรงรู้ในสิ่งนั้นดี
จากอายะห์ที่ได้หยิบยกมา จะเห็นถึง
คุณค่าและความสำคัญของการ “แบ่งปัน” และ “มูลค่า” ที่เพิ่มขึ้นในสรรพสิ่งที่เรา “ให้”
กับกลุ่มชนที่อยู่ในขอบข่ายสมควรได้รับ และมูลค่าแห่งทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์
ณ พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) เพราะการ “ให้ เพื่อให้” นั้น
เป็นการให้ที่เพิ่มพูนคุณค่าและความสำคัญในทรัพย์สินเหล่านั้น มากกว่า
การให้โดยหวังผลตอบแทนในระยะสั้นๆ ทั้งทางด้านหน้าตา เกียรติยศ และทรัพย์สิน
โดยเฉพาะเกียรติยศที่ได้รับภายหลังจากการให้ จะเห็นว่า สิ่งเหล่านั้น
เป็นเพียงภาพฉาบฉวย ที่สังคมปรุงแต่งให้เห็น เป็นเพียงมายาภาพ
ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสียดายในทรัพย์สินเหล่านั้น มูลค่าของมันจึงได้สะท้อนเพียง
มายาที่สังคมมอบให้ แต่ ณ พระองค์แล้ว มูลค่าของมันหาได้นำพาเขาเหล่านั้นได้เข้าไปใกล้ชิดกับพระองค์
ซึ่งตรงกันข้าม มายาคติที่แฝงมากับความเสียดายของเขา
นำเขาก้าวเข้าไปใกล้ชิดกับไฟนรกที่พระองค์จะมอบหมายให้กับบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงกริ้วและบรรดาผู้ที่โออวดตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่สะสมทรัพย์สิน จนมองข้ามความยำเกรงสำหรับพระองค์
ท่านทั้งหลาย
ในส่วนของ “ผู้รับ” แม้ว่า
การได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือสินทรัพย์จากผู้ที่ “ออกซากาต”
ซึ่งถือเป็นหน้าที่ตามศาสนบัญญัติที่ผู้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องออกซากาตต้องกระทำหน้าที่ของตนเองก็ตาม
แต่สำหรับผู้มีสิทธิในทรัพย์ซากาตเหล่านั้น เมื่อเขาได้รับแบ่งปันสินทรัพย์เหล่านั้นมาแล้ว
ใช่ว่าการใช้ทรัพย์สินเหล่านั้นอย่างไม่ “บันยะบันยัง” อย่างละโมภ โดยปราศจากความละอาย
เพราะความที่เขาไม่ได้ใกล้ชิดกับสิ่งเหล่านั้นมานาน หรือรอคอยมานาน
แต่เขาเหล่านั้น ต้องพิจารณาถึง คุณค่า ความพึงพอใจ และความคาดหวังในทรัพย์สินเหล่านั้น
ซึ่งอาจพิจารณาถึงช่วงหนึ่งของชีวิต ความยากแร้นแสนเข็ญที่เขาได้ประสบมา
รวมถึงการใช้อย่างระมัดระวัง และเขาพึงสำนึกอยู่เสมอว่า
เขาต้องไม่อยู่ในสถานภาพของผู้รับตลอดไป สักวันหนึ่งเขาต้องพลิกกลับเป็น “ผู้ให้”
บ้าง และการบริโภคสินทรัพย์ต่างๆ เหล่านั้น เขาพึงบริโภดตามความพึงพอใจของเขาอย่างเหมาะสมเพียงใด
มีของเหลือบ้างหรือไม่ และเขาจัดการกับของเหลือเหล่านั้นอย่างไร
ขอให้พิจารณาถึงสภาพของผู้ที่หิวโซ
ตราบเมื่อเขาได้มีโอกาสได้บริโภคอาหารมื้อแรกภายหลังความหิวโซนั้น
อาหารที่เขาได้รับ อาหารที่เขาได้บริโภค อาหารที่เหลือทิ้ง และอาหารที่เขาจะจัดเก็บไว้บริโภคในวันหลังจากนั้น
เขาจัดการกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น อย่างไร มูลค่าของสิ่งเหล่านั้น
หากมองในชิงปริมาณแล้ว อาจน้อยนิด หรือเทียบไม่ได้กับมูลค่าของการบริโภคของอัครมหาเศรษฐีที่รับประทานอาหาร ในร้านอาหารเลิศหรู
รวมถึงสิ่งที่เหลือกินเหลือใช้ของเขาเหล่านั้น แต่สำหรับในบรรดา “ผู้รับ”
สิ่งที่เหลือกินเหลือทิ้ง นั้น มันไม่ต่างกันกับบรรดาเศรษฐีก็ตาม
แต่มูลค่าของการทิ้งขว้างสิ่งเหล่านั้น คือ
สิ่งที่จะตอบโจทย์ความยำเกรงต่อพระองค์ในวันแห่งการตอบแทน
เพราะเมื่อใดก็ตามการทิ้งปัจจัยแห่งริสกีจากพระองค์ แน่นอนว่า
เขาปฏิเสธความปรารถนาดีของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ได้ให้เขาแล้ว
แต่เขาปฏิเสธด้วยการเหลือทั้งขว้าง และนั่นคือ สิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่า “มูลค่า”
ของมัน เมื่อยามที่เรา ขัดสน


إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا
رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ
إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ
سُبْحَانَ رَبِّكَ رَبِّ الْعِزَّةِ عَمَّا يَصِفُونَ
وَسَلامٌ عَلَى الْمُرْسَلِينَ
وَالْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ
والسَلامٌ
มูฮำหมัด
สันประเสริฐ
23
ร่อบีอุ้ลอาเคร 1433

อ้างอิง
อัลกุรอ่านฉบับภาษาไทย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ
ดำเนินการจัดพิมพ์โดยกระทรวงกิจการฮัจย์ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาเบีย , www.DivineIslam.com
อัลฮาดีซ :
Hadith of The Day V 1.0 Freeware by FaridAnasri avater@muslimonline.com www.beconvinced.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น