วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อย่าปล่อยปละละเลยชีวิตตามวันเวลาที่ผ่านไป

มิมบัรออนไลน์

คุตบะห์วันศุกร์ 25 มุฮัรรอม 1432 (วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.. 2553)

อย่าปล่อยปละละเลยชีวิตตามวันเวลาที่ผ่านไป

الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ

فَإِذَا قَضَيْتُمُ الصَّلاةَ فَاذْكُرُوا اللَّهَ قِيَامًا وَقُعُودًا وَعَلَى جُنُوبِكُمْ فَإِذَا اطْمَأْنَنْتُمْ فَأَقِيمُوا الصَّلاةَ إِنَّ الصَّلاةَ كَانَتْ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ كِتَابًا مَوْقُوتًا

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่เราทั้งหลายต่างได้กลับมายังสถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งในชุมชนของเรา เป็นสถานที่แห่งการรวมตัวและประกาศความยิ่งใหญ่ของพระองค์ เพื่อแสดงออกถึงความยำเกรงต่อพระองค์ เป็นความยำเกรงที่เราทั้งหลายต้องตระหนักและแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและความมุ่งหวังแห่งศรัทธาและแนวทางปฏิบัติอันเป็นแนวทางที่เที่ยงตรงสนองตอบพระบัญชาใช้ให้กระทำและสั่งให้งดเว้นการกระทำ เพราะทั้งหมดนั้น คือ แรงศรัทธาที่แสดงออกด้วยกายวาจาและใจ หาใช่การแสดงออกในรูปแบบที่ต่อหน้าและลับหลังเป็นการกระทำที่ต่างกันราวฟ้ากับหุบเหว ขาวหรือดำ นั่นคืออิริยาบถของผู้ที่ไม่เกรงกลัวต่อภาคผลแห่งการกระทำของเขา ซึ่งขอให้กิริยา วาจา และใจของเราทั้งหลาย จงตั้งมั่นอยู่ในแนวทางและมุ่งมั่นการกระทำของเราด้วยความสำรวมและยำเกรง ต่อพระองค์ เพราะนั่น ย่อมเป็นชัยชนะของเราทั้งหลาย

ท่านทั้งหลาย

เวลาที่เปลี่ยนผ่าน คือ การแสดงให้เห็นถึงการเดินทางของเวลา เป็นการเดินทางเรื่อยๆ เนิ่นนาน และก้าวหน้าไปอย่างช้าๆ หากเราพิจารณาถึงสิ่งที่เปลี่ยนผ่านพ้นไปทุกๆ เสี้ยววินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี ศตวรรษ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นผลแห่งการเคลื่อนที่หรือการโคจรของโลกและดาวทั้งหลายในระบบสุริยะจักรวาล หรือการเคลื่อนที่สัมพัทธ์กันกับการหมุนรอบตัวเองของโลก ซึ่งทำให้เราได้มองเห็นตำแหน่งการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจรไปตามวิถีของมัน ซึ่งผู้บริหารแห่งระบบดังกล่าวต้องเป็นผู้ที่มีกำลังมหาศาลในการที่จะบริหารจัดการให้ระบบการโคจรหมุนเวียนไปตามวิถีของมัน หาใช่ว่าระบบจะเคลื่อนที่เองโดยที่ไม่มีผู้บริหารจัดการ ซึ่งการเคลื่อนที่ของดาวทั้งหลายนั่นเองมนุษย์ใช้การเรียนรู้เพื่อกำหนดวันเวลาเพื่อการอ้างอิงในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ประโยชน์จากการกำหนดเวลาแห่งการนัดหมาย ตลอดจนการกำหนดวาระงานต่างๆ การกำหนดปฏิทิน โดยพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา ฤดูกาลต่างๆ ทั้งในระบบสุริยคติ และจันทรคติ จากนักวิทยาศาสตร์ที่เรียนรู้และเชี่ยวชาญในการศึกษาและติดตามการเคลื่อนที่ ทั้งนี้การกำหนดปฏิทินได้มีวิธีการกำหนดตามอิทธิพลทาง ศาสนจักรและอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โรมันมีอำนาจและแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วยุโรปและแอฟริกา การกำหนดปฏิทินโดยพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล และสอดแทรกถึงปรัชญาของผู้ที่มีอำนาจสูงสุด ในการเรียกชื่อเดือนต่างๆ เพื่อให้เป็นที่ระลึกถึงความเกรียงไกรของผู้มีอำนาจสูงสุด ขณะนั้น นั่นคือการกำหนดปฏิทินทางสุริยคติ แต่สำหรับการกำหนดปฏิทินอิสลาม นั้น ระบบปฏิทินอิสลามถูกผูกโยงไว้กับปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งได้กำหนดแนวปฏิบัติในแต่ละเดือนในรอบปีไว้เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจ โดยมีการเฉลิมฉลองเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา คือ วันอีดิ้ลฟิตริและวันอีดิ้ลอัฏฮา อาจกล่าวได้ว่าปีทางจันทรคติจะน้อยกว่าปีทางสุริยคติ ประมาณ 10-11 วัน และจะขยับไปตามวาระจนกระทั่งประมาณ 34-35 ปี จะทด 1 ปี กับปีทางสุริยะคติ ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าปีทางจันทรคติของไทยและของจีนจะทด 1 เดือน ในทุกๆ 3 ปี เรียกว่า “อธิกมาส” กล่าวคือกำหนดให้เดือนแปดมีสองหน ซึ่งการกำหนดปฏิทินเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงขณะเวลา (Epoch) หนึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่เป็นชัยชนะเหนือศัตรูของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ดังเช่น เหตุการณ์หนึ่งในสงครามครูเสดที่เหล่าบรรดาคริสเตียนเอาชนะกองทัพมุสลิมและสามารถสังหารหมู่กลุ่มผู้นำมุสลิมชนชาติตุรกี ภายหลังการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสเพียง 7 วัน ซึ่งได้ถูกย้ำเตือนถึงเหตุการณ์นั้น โดยการนับถอยหลัง (Countdown) ถึงวินาทีแห่งชัยชนะนั้น พร้อมๆ ไปกับเสียงที่แสดงออกถึงความรื่นเริงแห่งความสุขในวันขึ้นปีใหม่ และทุกๆ ปี การเฉลิมฉลองดังกล่าวมีประชาชาติทั่วโลก ร่วมยินดีปรีดากับชัยชนะดังกล่าวกันอย่างสนุกสนาน ลืมเหตุการณ์แห่งความโศรกเศร้าของเหล่าบรรดาผู้นำชาติมุสลิมที่ได้รับความสูญเสีย และความเจ็บช้ำน้ำใจของเหล่าผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว นั่นเป็นเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ที่เราทั้งหลายต่างได้เรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ความเจ็บปวด ความรู้ สรรพวิทยาการต่างๆ หากย้อนมองกลับไปถึงสาระสำคัญของการดำเนินชีวิตตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเพื่อทบทวน เรียนรู้ เพื่อการต่อยอดความคิด ต่อยอดการถ่ายทอดความรู้ ความทรงจำทั้งหลาย เพื่อแสดงออกถึงบทเรียนในการทบทวนความผิดพลาดพร้อมกับเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ เหล่านั้นให้ได้หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ หรือเหตุการณ์ดังกล่าวเหล่านั้นเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เราจะใช้บทเรียนแห่งความผิดพลาดเหล่านั้น เพื่อให้เราได้เรียนรู้พร้อมๆ กับการแก้ไขปรับปรุงจากบทเรียนข้อผิดพลาดทั้งหลายให้หมดสิ้นไป

ท่านทั้งหลาย

เราได้ใช้เวลาในการดำเนินชีวิตไปตามวาระโอกาสต่างๆ อย่างไม่ระมัดระวัง หากพินิจพิจารณาว่าเวลา เป็นทรัพย์สินที่มีค่าชนิดหนึ่งแล้ว การใช้เวลาของเราอาจเป็นการใช้อย่างหรูหราฟุ่มเฟือยได้ เพราะเวลาเป็นสิ่งที่มีค่า ตราบใดที่ผู้ใช้ไม่เห็นถึงประโยชน์ของเวลา เขาจะใช้มันอย่างฟุ่มเฟือย ไม่รู้ถึงถึงคุณค่าของมัน แต่เมื่อใดก็ตามมนุษย์เล็งเห็นถึงประโยชน์และข้อจำกัดต่างๆ จากการใช้เวลานั้นแล้ว เขาพึงใช้มันด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง มีความเกรงกลัวว่าการใช้เวลาของเขาอย่างไม่ระมัดระวังแล้ว เขาอาจพลาดโอกาสที่ดีในกาดำเนินชีวิตก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ เราทั้งหลายพึงตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เวลาให้มากที่สุด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตแลเป็นเรื่องสำคัญแห่งการดำรงชีวิตของเรา หากมองถึงการดำเนินชีวิตในกิจกรรมต่างๆ ของเราเปรียบเทียบกับการขับขี่ยานพาหนะแล้ว วินาทีที่เราประมาทแม้จะเพียงแค่เล็กน้อยในเสี้ยววินาทีหนึ่ง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีวันหยุดยาวๆ จะเห็นได้จากสถิติในแต่ละปีที่ทางราชการพยายามรณรงค์เข้มงวดกับการคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับขี่ยวดยานพาหนะ การเสพสิ่งมึนเมารวมถึง การพักผ่อนอย่างเพียงพอ และความคึกคะนองในการใช้รถยนต์และยวดยานต่างๆ ล้วนแล้วเป็นสาเหตุและต้นเหตุของเหตุการณ์ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า การเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เราอาจเป็นกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกนับสถิติกับทางราชการด้วยก็ได้ แม้เรามิใช่ต้นเหตุของเหตุการณ์ แต่เราอาจได้รับผลแห่งการกระทำอันเกิดจากความประมาทของผู้อื่น ก็เป็นได้ เพราะในแต่ละเส้นทาง การเดินทางบนท้องถนน จะมีมีทั้งคนที่เร่งรีบ คนที่คึกคะนอง คนเมาสุรา ตลอดจน คนที่มีความสุขที่จะได้ กลับบ้าน หรือไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายปลายทางที่แตกต่างกัน แต่หากคนเพียงคนเดียวมีความประมาทใช้เส้นทางด้วยความคะนอง มึนเมา หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ แม้ว่าตั้งใจที่จะใช้เส้นทางคมนาคมร่วมกับผู้อื่น เพื่อการเดินทางสัญจรไปในสถานที่ต่างๆ หากความถดถอยในการใช้วิจารณญาณของเขาถดถอยลงจากความบกพร่องทางสติ ด้วยความมึนเมา คึกคะนอง เผอเรอ ขาดสติยั้งคิด จึงเป็นผลให้การใช้รถใช้ถนนร่วมกับผู้อื่นโดยขาดเจตนาที่ดีที่จะใช้เส้นทางร่วมกันด้วยความสุข ความปลอดภัยแล้ว ในที่สุด แม้เพียงเสี้ยววินาที อาจทำให้เกิดความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากในทุกๆ เทศการที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายๆ วัน หรือจากเหตุการณ์ที่เกิดจากความประมาทด้วยสาเหตุต่างๆ ที่เรารับทราบจากข่าวสารที่ปรากฏในสื่อมวลชนทุกแขนง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ท่านทั้งหลาย

การใช้เวลาในแต่วันอย่างเหมาะสมนั้น คงไม่มีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาใดที่ไม่ระบุหรือให้ความสำคัญ เพราะเวลา คือสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด เราอาจไม่เห็นถึงคุณค่าของมันตราบใดที่เราลองย้อนกลับมามองถึงความเปลี่ยนแปลงจากอดีตมายังปัจจุบัน การพินิจพิจารณาถึงคุณค่าความสำคัญแห่งช่วงเวลา จึงทำให้เราได้ย้อนกลับและมองเห็นถึงความสำคัญ โดยที่หลายๆ คนอาจพูดเหมือนๆ กันว่า “รู้อย่างนี้ เราน่าจะทำเรื่องนี้ก่อนเรื่องนั้นดีกว่า” เพราะเราได้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของเวลาในการแสดงออกถึงบทบาทต่างๆ การกระทำของเราที่เป็นผลจากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน แต่หากเรามองถึงการกำหนดช่วงเวลาและการประกอบศาสนกิจของเราในแต่ละวันแล้ว โองการจากอัลกุรอ่าน Al-Qur'an, 004.103 (An-Nisa [Women]) ความว่า

004.103 فَإِذَا قَضَيْتُمُ الصَّلاةَ فَاذْكُرُوا اللَّهَ قِيَامًا وَقُعُودًا وَعَلَى جُنُوبِكُمْ فَإِذَا اطْمَأْنَنْتُمْ فَأَقِيمُوا الصَّلاةَ إِنَّ الصَّلاةَ كَانَتْ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ كِتَابًا مَوْقُوتًا

004.103 When ye pass (Congregational) prayers, celebrate Allah's praises, standing, sitting down, or lying down on your sides; but when ye are free from danger, set up Regular Prayers: For such prayers are enjoined on believers at stated times.

103. ครั้นเมื่อพวกเจ้าเสร็จจากการละหมาดแล้ว (คือละหมาดสองรักอัต ในขณะที่ทำการสู้รบกับฝ่ายศัตรู ละหมาดดังกล่าวนี้เรียกว่าซ่อลาตุลเคาฟ์”) ก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ทั้งในสภาพยืนและนั่งและในสภาพนอนเอกเขนกของพวกเจ้า ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้ว ก็จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด (ทำละหมาดให้ครบถ้วนสมบูรณ์เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติตามปกติ) แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลา (ถูกกำหนดไว้ในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง 5 เวลาดังที่ทราบกันแล้ว) ไว้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย

นั่นคือ ข้อกำหนดแห่งศาสนกิจเกี่ยวกับการใช้เวลา เราพึงใช้ด้วยความระมัดระวัง ความสำคัญในการกำหนดบทบาทและช่วงเวลาในการปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อที่เราจะได้ใช้เวลาในการดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังและเข้มงวดในการใช้และใช้อย่างเหมาะสมในทุกๆ เหตุการณ์ และไม่หลงลืมการใช้เวลาเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจของเรา เพราะนั่นคือ การแสดงออกถึงความเป็นผู้ที่ตอบสนองพระบัญชาของพระองค์ด้วยความยำเกรงและใช้อย่างคุ้มค่า และใช้เวลาอย่างระมัดระวังไม่ปล่อยปละละเลยถึงบทบาทของตนเองในแต่ละกิจกรรมแห่งการดำเนินชีวิตและเข้าถึงความเมตตาของพระองค์อย่างสมบูรณ์และเหมาะสม

ท่านทั้งหลาย

เราทั้งหลายอย่าได้ปล่อยปละละเลยในกิจกรรมแห่งการดำเนินชีวิตของเราให้เป็นไปตามยถากรรม เราพึงตระหนักถึงบทบาทและการดำเนินชีวิตของเราในเรื่องของเวลาให้มีความสำคัญและเหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญต่อบทบาทในกิจกรรมแห่งการดำเนินชีวิต กิจกรรมที่เป็นศาสนกิจ โดยตระหนักและอดทนต่อความยุ่งยาก ความลำบาก แม้ว่าการปฏิบัติศาสนกิจของเราอาจมีอุปสรรค แต่ถ้าเราให้ความสำคัญปรับปรุงตนเองโดยมุ่งเน้นบทบาทความสำคัญและมุ่งหวังความโปรดปราณจากพระองค์แล้ว แน่นอนว่า ชัยชนะอันได้มาซึ่งความใกล้ชิดกับพระองค์ในวันแห่งการตัดสิน จะเป็นแง่มุมที่เราทั้งหลายต่างมีเป้าหมายร่วมกัน และเรามองถึงคุณค่าและความสำคัญในการแสดงออกถึงความอดทนต่อการรอคอย และการใช้เวลาอย่างครุ่นคิดคำนึงถึงประโยชน์และความสำคัญ คุณค่าของเวลา ขอให้เราทั้งหลายจงพิจารณาโองการจากอัลกุรอ่าน Al-Qur'an, 103.001-003 (Al-Asr [The Declining Day, Eventide, The Epoch]) ความว่า

103.001 وَالْعَصْرِ

103.001 By (the Token of) Time (through the ages),

1. ขอสาบานด้วยกาลเวลา (อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงสาบานด้วยกาลเวลาอัลอัศรฺ คือกาลเวลาทั้งหมด เวลากลางคืน กลางวัน เช้า เย็น และกาลเวลาที่มีสิ่งแปลกประหลาด และสิ่งที่เป็นบทเรียน และข้อคิดต่าง ๆ ก้อตาดะฮฺกล่าวว่า อัลอัศรฺคือยามสุดท้ายของเวลากลางวัน พระองค์ทรงสาบานด้วยเวลาอัลอัศรฺ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงสาบานด้วยเวลาอัฎฎฮา เพราะในเวลาทั้งสองเป็นการยืนยันถึงเดชานุภาพของพระองค์ และเป็นข้อเตือนสติที่ดี)

103.002 إِنَّ الإنْسَانَ لَفِي خُسْرٍ

103.002 Verily Man is in loss,

2. แท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน (คือมนุษย์นั้นอยู่ในสภาพที่ขาดทุนและหายนะ เพราะเขามีชีวิตอยู่ในความยากลำบาก และเมื่อตายไปก็จะอยู่ในนรก ดังนั้นเขาจึงขาดทุนทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตของเขาที่อยู่ในทรวงอกของเขา)

103.003 إِلا الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَتَوَاصَوْا بِالْحَقِّ وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ

103.003 Except such as have Faith, and do righteous deeds, and (join together) in the mutual teaching of Truth, and of Patience and Constancy.

3. นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน (เว้นแต่บุคคล 4 ประเภท คือ ผู้ศรัทธา กระทำความดี สั่งเสียกันในสัจธรรม และสั่งเสียกันให้มีความอดทน บุคคลที่มีคุณลักษณะดังกล่าวเป็นผู้ประสบชัยชนะหรือได้รับความสำเร็จ เพราะพวกเขายอมเสียสละสิ่งที่ไม่มีค่าด้วยสิ่งที่มีค่า หรือยอมแลกเปลี่ยนความใคร่ใฝ่ต่ำที่อยู่ใกล้มือด้วยความดีที่อยู่ยงตลอดไป และตักเตือนหรือสั่งเสียซึ่งกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรมซึ่งเป็นความดีทั้งหมด เช่น การศรัทธา การเชื่อมั่น การเคารพภักดีต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานี และตักเตือนหรือสั่งเสียซึ่งกันและกันให้มีความอดทนต่อความยากลำบาก การปฏิบัติสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม)

ท่านทั้งหลาย

บทบาทและความสำคัญของเรา คือ สิ่งที่เราต้องนำมาพิจารณาในวันนี้ซึ่งเป็นการใคร่ครวญที่ยังไม่สายเกินแก้ เพราะในวันนี้เราทั้งหลายยังดำเนินกิจกรรมต่างๆ และสามารถปรับปรุงตนเองได้ ก่อนที่เราจะไม่มีเวลาที่จะกลับเนื้อกลับตัวและไม่สามารถแก้ไขสิ่งใดๆ ได้เลย เพราะหมดเวลาที่จะกระทำการใดๆ ได้อีกแล้ว ด้วยเหตุนี้ เราทั้งหลายจึงควรพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นด้วยความไม่รู้ ด้วยการแสวงหาความรู้จากผู้ที่มีความรู้ แสวงหาและทุ่มเทให้ความสำคัญในกิจกรรมและศาสนกิจ ด้วยความอดทนและมุ่งมั่นการกระทำ โดยมอบหมายอามั้ลต่างๆ เพื่อพระองค์ โดยที่เรามุ่งผลตอบแทนจากพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีภาคส่วนใดๆ ให้กับภาคีอื่นใดอีก ขอให้เราทั้งหลายจงพิจารณา และให้ความสำคัญต่อภารกิจและการใช้เวลาด้วยความมุ่งมั่นในบทบาทแห่งการดำเนินชีวิต ความอดทน ซึ่งในวันแห่งการตัดสินไม่มีใครที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือใครให้รอดพ้นจากโทษทัณฑ์ใดๆ ได้ หากในวันนี้เรายังใช้ชีวิตด้วยความฟุ่มเฟือย บกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ รอบคอบ และด้วยความอดทน ต่อบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบต่อภารกิจแห่งตนเองเป็นสำคัญ ขอให้จารณาอัลฮาดีส ต่อไปนี้ ความว่า

I heard Allah's Apostle saying, "Allah does not take away the knowledge, by taking it away from (the hearts of) the people, but takes it away by the death of the religious learned men till when none of the (religious learned men) remains, people will take as their leaders ignorant persons who when consulted will give their verdict without knowledge. So they will go astray and will lead the people astray."

Narrateed by : Abdullah bin Amr bin Al As Source: Sahih Bukari 1.100

ซึ่งในวันนี้ ขอให้เราทั้งหลายจงตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของเวลา ขอให้เราใช้ความอดทน ต่อการเสาะแสวงหาความรู้ โดยที่เรามีความมุ่งมั่นใส่ใจและให้ความสำคัญในบทบาทของตนเอง การดำเนินชีวิต การประกอบกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนกิจวัตรทางด้านศาสนกิจ อย่าได้มีความบกพร่อง อย่าปล่อยปละละเลยจนหมดเวลา เพราะนั่นคือการขาดทุน แม้เราไม่ได้ลงทุนใดๆ เลย เกี่ยวกับการใช้เวลา แต่หากเราขาดทุนเพียงเพราะเราใช้เวลาด้วยความฟุ่มเฟือย ปล่อยปละละเลย ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้แล้ว เราจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง และสูญเสียโอกาสที่สำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องกำหนดบทบาทของเราในวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อการสนองตอบในการเรียกใช้และข้อห้ามจากพระองค์ด้วยความยำเกรงในความยิ่งใหญ่ของพระองค์

إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا

رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ

إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ

سُبْحَانَ رَبِّكَ رَبِّ الْعِزَّةِ عَمَّا يَصِفُونَ

وَسَلامٌ عَلَى الْمُرْسَلِينَ

وَالْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ

ว่าบิ้ลลาฮิเตาฟีก วั้ลฮิดายะห์

วัสสลาม

มูฮำหมัด สันประเสริฐ

อ้างอิง

อัลกุรอ่านฉบับภาษาไทย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ดำเนินการจัดพิมพ์โดยกระทรวงกิจการฮัจย์ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาเบีย http://www.alquran-thai.com/

อัลฮาดีซ : Hadith of The Day V 1.0 Freeware by FaridAnasri avater@muslimonline.com www.beconvinced.com

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความซื่อสัตย์ ตัวชี้วัดคุณภาพของคน

มิมบัรออนไลน์

คุตบะห์วันศุกร์ 18 มุฮัรรอม 1432 (วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.. 2553)

ความซื่อสัตย์ ตัวชี้วัดคุณภาพของคน

الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ

يَسْأَلُونَكَ عَنِ الأنْفَالِ قُلِ الأنْفَالُ لِلَّهِ وَالرَّسُولِ فَاتَّقُوا اللَّهَ وَأَصْلِحُوا ذَاتَ بَيْنِكُمْ وَأَطِيعُوا اللَّهَ وَرَسُولَهُ إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِينَ

إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الَّذِينَ إِذَا ذُكِرَ اللَّهُ وَجِلَتْ قُلُوبُهُمْ وَإِذَا تُلِيَتْ عَلَيْهِمْ آيَاتُهُ زَادَتْهُمْ إِيمَانًا وَعَلَى رَبِّهِمْ يَتَوَكَّلُونَ

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่เราทั้งหลายต่างได้มารวมตัวกันอีกครั้งในวันที่มีความสำคัญอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ สมควรอย่างยิ่งที่เราทั้งหลายพึงขอบคุณต่อเนี้ยะมัตจากพระองค์ ที่ทำให้เราทั้งหลายมีความสุข ความสำราญ และเกิดความตั้งใจที่จะมุ่งมั่นกระทำภารกิจในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้และละทิ้งในบรรดาการกระทำที่พระองค์ทรงห้าม เพราะนั่นคือแนวทางอันเที่ยงตรงจากพระองค์ตามแบบฉบับของท่านศาสดาได้กระทำเป็นแบบฉบับอันทรงคุณค่ามานานนับกว่า 1430 ปีที่ผ่านมา ท่านทั้งหลายในที่นี้รวมทั้งข้าพเจ้า พึงยำเกรงต่อพระองค์ให้มากและจงมุ่งมั่นกระทำอามั้ลมุ่งตรงต่อพระองค์ เพราะไม่มีใครหรือสิ่งใดที่จะบันดาลคุณค่าและสิ่งทั้งหลายให้กับเราโดยไม่มีภาคผลตอบแทนการกระทำของเราเว้นแต่เพียงสำหรับพระองค์เท่านั้น เพราะโดยแน่แท้แล้ว ไม่มีภาคีสำหรับพระองค์และการกระทำการใดๆ ก็ตามเราจงมุ่งตรงต่อพระองค์อย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงพระองค์

ท่านทั้งหลาย

ความซื่อสัตย์สุจริต คือ คุณธรรมสากลที่ทุกๆ ศาสนาต่างให้ความสำคัญ ทุกๆ ภาคส่วนของสังคมต่างมองเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญต่อคุณธรรมเรื่องนี้ ยิ่งในปัจจุบันหลายๆ เหตุการณ์ หลายๆ ข่าวสาร ต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากกว่าเรื่องอื่นๆ เหตุที่เราต่างให้ความมุ่งหวังและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือ ในปัจจุบัน เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของแต่ละภาคส่วนในสังคม เป็นเรื่องที่หาได้ยากมากทีเดียว ในบรรดานักการเมืองทุกระดับ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดอำนาจ ต่างละเลยไม่กล่าวถึงคุณธรรมในเรื่องนี้ นักการเมืองเป็นกลุ่มที่ได้ใช้อำนาจใกล้ชิดกับการแบ่งปันทรัพยากรต่างๆเพื่อชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งหากขาดความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว การกระทำการของนักการเมืองโดยมุ่งแบ่งปันให้คนใกล้ชิด หรือทำให้การกระจายตัวของการใช้อำนาจไปกระจุกตัวในกลุ่มคนใกล้ชิดหรือบรรดาพรรคพวกหรือกลุ่มบริวารของนักการเมืองดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดผลเสียต่อภาพรวมของสังคม ผลเสียหายที่เกิดขึ้นหาใช่เพียงความเสียหายต่อตัวนักการเมืองนั้น แต่ผลกระทบนั้น มันกระจายตัวและขยายภาคผลแห่งความเสียหายนั้นไปทั่วทั้งประเทศ ขึ้นอยู่ว่าความสะเทือนแห่งผลดังกล่าวไปกระทบกับภาคส่วนใดๆ บ้าง ความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจกลายสภาพเป็นตัวอย่างให้กับชนรุ่นใหม่ ที่อาจมีแนวคิดต่อเรื่องดังกล่าว ในแง่มุมของการปฏิบัติตามเยี่ยงอย่าง การคิดเป็นตัวแบบที่มีมุมมองถึงประโยชน์เฉพาะหน้าที่เราพึงจะได้รับ ซึ่งคนส่วนใหญ่มีแนวคิดถึงผลตอบแทนเฉพาะอย่างหากเราละทิ้งหรือหลงลืมความซื่อตรง ความสื่อสัตย์ นั้น หากเราพิจารณาถึงกรณีที่ทางราชการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินถล่ม เป็นต้น เราพบว่าบางส่วนของพื้นที่ดังกล่าว แม้จะเป็นพื้นที่ที่เกิดผลกระทบเกี่ยวเนื่องจากภัยพิบัตินั้น แต่ความเกี่ยวเนื่องของพื้นที่ ซึ่งคนโดยทั่วไปจะเห็นได้ว่า บริเวณนั้นไม่อยู่ในข่ายของการเกิดภัยพิบัติ แต่ในกรณีที่ทางราชการเข้ามาแจกเงินช่วยเหลือ ถามว่าชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ และเขามีความซื่อสัตย์ที่จะปฏิเสธความช่วยเหลือจากทางราชการหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว หากเขาเหล่านั้นมีความคิดถึงความซื่อสัตย์ไม่ว่าจะต่อตนเองหรือต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) แล้ว เขาควรมีความละอายต่อการกระทำของเขา หรือบางคนอาจคิดเพียงว่า “ด้านได้อายอด” เพราะคนส่วนใหญ่เขาก็ทำกัน ในเมื่อรัฐบาลเขาเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน เราก็ได้สนองตอบรับความช่วยเหลือจากกทางรัฐบาลแล้ว มันคือผลประโยชน์ของคนกลุ่มที่ถูกกระทบจากภัยพิบัติที่เราทั้งหลายต่างประสบกันมาในช่วงหนึ่ง

ท่านทั้งหลาย

คุณธรรม เรื่อง ความซื่อสัตย์ หาใช่สิ่งที่เป็นเพียงการเรียนรู้ในนวนิยาย สารคดี แต่เราทั้งหลายพึงตรวจสอบการกระทำของเรา เราทั้งหลายพึงระวังรักษาสังคมให้เป็นสังคมที่อุดมไปด้วยการเก็บเกี่ยวและคุณค่าของความซื่อสัตย์เอาไว้ให้มาก หาใช่คิดแต่ผลประโยชน์ที่เราทั้งหลายพึงจะได้รับเท่านั้น หากแต่เราพึงสำนึกและพึงรักษาแม้เป็นเพียงการกระทำที่ดูแล้วจะเล็กน้อย หากแต่ยิ่งใหญ่ในสายตาของพระองค์ ที่ทรงย้ำเตือน เกี่ยวกับการรักษาซึ่งคุณค่าแห่ง ความซื่อสัตย์จากโองการอัลกุรอ่าน Al-Qur'an, 008.001-002 (Al-Anfal [Spoils of War, Booty])

ความว่า

008.001 يَسْأَلُونَكَ عَنِ الأنْفَالِ قُلِ الأنْفَالُ لِلَّهِ وَالرَّسُولِ فَاتَّقُوا اللَّهَ وَأَصْلِحُوا ذَاتَ بَيْنِكُمْ وَأَطِيعُوا اللَّهَ وَرَسُولَهُ إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِينَ

008.001 They ask thee concerning (things taken as) spoils of war. Say: "(such) spoils are at the disposal of Allah and the Messenger: So fear Allah, and keep straight the relations between yourselves: Obey Allah and His Messenger, if ye do believe."

1. พวกเขาจะถามเจ้า (คือท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เกี่ยวกับบรรดาทรัพย์สินเชลย (คือทรัพย์สินเชลยที่ริบได้ในสงครามบะดัร ซึ่งทรัพย์เชลยแรกในอิสลาม กล่าวคือพวกเขาต้องการทราบว่าทรัพย์เชลยเป็นสิทธิของใคร? ) "จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า บรรดาทรัพย์สินเชลยนั้นเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺและของร่อซูล ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงปรับปรุงความสัมพันธ์ (คือปรับปรุงให้มีความเข้าใจดีต่อกัน และรักใครกัน) ระหว่างพวกท่านเถิดหากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา

008.002 إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الَّذِينَ إِذَا ذُكِرَ اللَّهُ وَجِلَتْ قُلُوبُهُمْ وَإِذَا تُلِيَتْ عَلَيْهِمْ آيَاتُهُ زَادَتْهُمْ إِيمَانًا وَعَلَى رَبِّهِمْ يَتَوَكَّلُونَ

008.002 For, Believers are those who, when Allah is mentioned, feel a tremor in their hearts, and when they hear His signs rehearsed, find their faith strengthened, and put (all) their trust in their Lord;

2. “แท้จริงบรรดาผู้ที่ศรัทธานั้น คือ ผู้ที่เมื่ออัลลอฮฺถูกกล่าวขึ้นแล้ว หัวใจของพวกเขาก็หวั่นเกรง และเมื่อบรรดาโองการของพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา โองการเหล่านั้นก็เพิ่มพูนความศรัทธาแก่พวกเขา และแด่พระเจ้าของพวกเขานั้น พวกเขามอบหมายกัน

ท่านทั้งหลาย

ในปัจจุบัน เราจะเห็นถึงการรณรงค์เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตในสังคมส่วนใหญ่ของประเทศ เหตุที่มีการรณรงค์กันก็เพราะเกรงว่าคนส่วนใหญ่หลงลืมหลักการคุณธรรมในข้อนี้ โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองทุกๆ ระดับ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น หรือนักการเมืองระดับชาติก็ตาม บางครั้งเราคิดว่านักการเมืองที่เก่งๆ จะเป็นคนที่นำพาการพัฒนาชาติบ้านเมือง แต่ในส่วนของนักการเมืองแล้ว บางครั้งตัวนักการเมืองเหล่านั้นไม่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต เห็นประโยชน์ของกลุ่ม หรือพวกพ้องของตนมากกว่าประโยชน์ส่วนใหญ่ของประเทศ จนมีคำกล่าวที่ว่า พื้นที่ไหนเลือกกลุ่มพวกเรา จะให้ความช่วยเหลือ จัดสรรงบประมาณลงในพื้นที่นั้นก่อน ส่วนพื้นที่ที่เป็นของฝ่ายค้าน ต้องรอก่อนเพราะเขาไม่ให้ความสำคัญกับเรา คำกล่าวเยี่ยงนี้บ่งบอกถึงความคิดที่เอาแต่ได้ ใช้ประโยชน์หาเสียงเอากับงบประมาณแผ่นดิน นักการเมืองชนิดนี้เป็นนักการเมืองที่อันตรายที่สุดแล้วจะนำพาประเทศชาติสู่ความหายนะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เนื้อแท้ของนักการเมืองไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตามที่เข้ามาบริหารประเทศ มักจะเสพติดอำนาจ และเพลิดเพลินไปกับขุมทรัพย์ที่กระจายไปตามงบประมาณแผ่นดินสนองตอบต่อกลุ่มการเมืองต่างๆ ของพรรครัฐบาล ประโยชน์ที่ได้แม้บางส่วนที่เล็กน้อยตกกับประชาชน แต่สำหรับบรรดานักการเมือง เสือ สิงห์ กระทิง แรด เหล่านี้ กลับได้รับประโยชน์ที่มากมายมหาศาล ร่ำรวย และมีเงินทุนแน่นหนารองรับทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง หรือหากพวกเขาแพ้การเลือกตั้ง หรือไม่สามารถเข้ากุมอำนาจรัฐได้ ก็มีแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการป่วนเมือง หรือจัดการชุมนุมทางการเมือง เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้เข้ากุมอำนาจรัฐ แล้วผลาญงบประมาณแผ่นดินเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มนักการเมืองที่ถูกไล่ออกจากตำแหน่งก่อนหน้านี้ แล้วกลุ่มที่เข้ามาใหม่ก็แสวงหา ตักตวงประโยชน์เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มเก่า แต่เปลี่ยนชื่อเรียกโครงการเดิม ให้ดูดีกว่า แต่กลับพบว่าไม่แตกต่างกัน เพราะที่สุดแล้ว ต่างมุ่งเน้นความสำคัญและประโยชน์แต่เพียงเฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่เป็นพรรคพวก นักลงทุน หรือกลุ่มทุนที่สนับสนุนกลุ่มการเมืองเหล่านั้น โดยมองถึงความซื่อสัตยสุจริตเป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู เป็นสโลแกนที่เหมือนยันต์กันผีที่คอยปกป้องและเป็นกันชนให้ดูดี แต่เบื้องหลังแล้ว การทุจริตก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ดังนั้นในวันนี้แม้คนในสังคมจะวิตกและหลงลืมกันไปเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต แต่ขอให้เราทั้งหลายจงยึดมั่นและย้ำเตือนตนเองอยู่ตลอดเวลาว่าเรายำเกรงต่อพระองค์ แม้ความซื่อสัตย์สุจริตของเราจะทำให้เราได้รับประโยชน์เพียงเล็กน้อยในวันนี้ แต่สำหรับพระองค์แล้ว มันคือภาคผลที่ยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์เฉพาะหน้าในปัจจุบัน ขอฝากอัลฮาดีส ความว่า

A man from among those who were before you was called to account. Nothing in the way of good was found for him except that he used to have dealings with people and, being well-to-do, he would order his servants to let off the man in straitened circumstances [from repaying his debt]. He (the Prophet p.b.u.h) said that Allah said: We are worthier than you of that (of being so generous). Let him off. Hadith Qudsi 12

ซึ่งขอให้เราทั้งหลาย จงร่วมกันปกป้องและรักษาไว้ซื่อความซื่อสัตย์สุจริตไว้ดั่งคำสุภาษิตที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด คตกินไม่นาน” และภาคผลแห่งความยำเกรงต่อพระองค์นั้น มีคุณค่าที่มากมายมหาศาล ณ บัลลังก์แห่งพระองค์ และคนที่มีความยำเกรงต่อพระองค์ คือคนที่จะได้ใกล้ชิดต่อพระองค์

إِنَّ اللَّهَ وَمَلائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا

رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ

إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ

سُبْحَانَ رَبِّكَ رَبِّ الْعِزَّةِ عَمَّا يَصِفُونَ

وَسَلامٌ عَلَى الْمُرْسَلِينَ

وَالْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ

ว่าบิ้ลลาฮิเตาฟีก วั้ลฮิดายะห์

วัสสลาม

มูฮำหมัด สันประเสริฐ

อ้างอิง

อัลกุรอ่านฉบับภาษาไทย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ดำเนินการจัดพิมพ์โดยกระทรวงกิจการฮัจย์ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาเบีย http://www.alquran-thai.com/

อัลฮาดีซ : Hadith of The Day V 1.0 Freeware by FaridAnasri avater@muslimonline.com www.beconvinced.com